นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมายและผู้ประสานงานกลุ่มรวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค เปิดเผยว่า วันนี้ (23 เม.ย.) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้มีคำตัดสินให้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) กระทำผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ต้องใช้คืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งเป็นโจทก์ ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ของหุ้นกู้ 4 รุ่นของ STARK มูลค่ารวมกว่า 5,264.10 ล้านบาท (เฉพาะเงินต้นยังไม่รวมดอกเบี้ย) ได้แก่
1.หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2566 (STARK239A) มูลค่าเงินต้น 1,291.50 ล้านบาท
2.หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (STARK249A) มูลค่าเงินต้น 949.50 ล้านบาท
3.หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (STARK245A) มูลค่าเงินต้น 1,701.10 ล้านบาท
4.หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 3 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568 (STARK255A) มูลค่าเงินต้น 1,322.00 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ศาลจึงได้กำหนดค่าเสียหายเพื่อลงโทษเพิ่มอีก 1 ใน 4 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมดของหุ้นกู้ ซึ่งศาลยังไม่ได้คำนวณ แต่มองว่าศาลน่าจะให้เพิ่มค่าเสียหายราว 25% มองว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะ STARK ไม่ได้ผิดนัดชำระหุ้นกู้อย่างเดียว แต่จงใจเอาเปรียบทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย
โดยหลังจากนี้ก็ต้องดูว่า STARK จะทำอย่างไร จะสู้คดีหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสินทรัพย์ของบริษัทก็ถูกอายัด ก็ต้องดูว่าจะบังคับคดีเพื่อเรียกคืนทรัพย์อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียหายในกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2565 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 รุ่น STARK242A มูลค่าเงินต้นคงค้าง 3,934.30 ล้านบาท ซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ บล. เอเซีย พลัส (ASP) ซึ่งได้มีการฟ้องร้องแล้ว และตามข้อกฎหมายสามารถนำคำพิพากษาคดีวันนี้ไปใช้ประกอบในการดำเนินคดีได้ และเชื่อว่าศาลจะมีการตัดสินไปในทางเดียวกันกับคดีนี้
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะจัดการประชุมให้ทนายความของธนาคารขี้แจงคำพิพากษาต่อผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 3 พ.ค.67 และจะมีนายวีรพัฒน์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากประชาชนกลุ่มรวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มที่ได้ยื่นฟ้องจำเลย 24 ราย ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้รับคำร้องไว้พิจารณาและกำลังอยู่ระหว่างการไต่สวน
ด้านแหล่งข่าวในวงการหุ้นกู้ กล่าวว่า การฟ้องร้อง STARK ของธนาคากสิกรไทย ถือว่าได้ทำหน้าที่ผู้แทนหุ้นกู้แล้ว แต่ในความเป็นจริง ณ วันนี้ สภาพบริษัทไม่เหลืออะไรแล้ว บอร์ดที่เคยลงชื่อผูกพันก็ไม่อยู่ กระบวนการไล่เบี้ยเอาผิดก็ยากที่จะทำได้
ส่วนคดีที่กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้รวมตัวฟ้อง STARK แบบกลุ่ม (Class Action) เมื่อ 21 มี.ค.67 โดยฟ้องร้อง นายวนรัชต์ ตั้งคาราวคุณ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และนายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม โดยมีบางรายอุทธรณ์สู่คดี บางรายก็ไม่อุทธรณ์ บางรายก็ขอขยายเวลา ซึ่งศาลจะให้ขยายเวลาได้ 30 วัน 2 ครั้ง
ด้าน นายณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากการลงทุนหุ้น STARK กล่าวว่า ความเสียหายกรณี STARK มีทั้งธนาคารเจ้าหนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้หุ้นกู้ 9 พันล้านบาท แล้วยังมีผู้เสียหายหุ้นสามัญอีกราว 75,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักลงทุนสถาบันที่ซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง 5,580 ล้านบาท และความเสียหายจากราคาหุ้นที่หายกลายเป็นศูนย์อีกกว่า 70,000 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยเสียหายมากกว่า 20,000 คน จากการตกแต่งบัญชี ปั่นราคาหุ้น หลอกลวงรายย่อยมาติดหุ้น กลายเป็นศูนย์ จะเยียวยาความเสียหายกันอย่างไร เพราะไม่ได้มีเฉพาะเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้หุ้นกู้ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีหุ้นสามัญอีก 75,000 ล้านบาท
หากไม่ชดใช้ ปล่อยละลายกลายเป็นศูนย์ ก็มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศกลัวว่ามาลงทุนแล้วจะเจอตกแต่งบัญชี ปั่นราคาหุ้น พอเสียหายมาก็ไม่มีใครรับผิดชอบ เลยถอนการลงทุนหุ้นไทย จนปีที่ผ่านมา ถึงเวลานี้ ตลาดหุ้นไทยเลยถูกขาย ผลตอบแทนตกต่ำที่สุดในโลก มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหาดวูบไปมากกว่า 4 ล้านล้านบาทแล้ว ทุกฝ่ายจึงต้องมีทางออกเรื่องนี้เพื่อกอบกู้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นคืนมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 67)
Tags: STARK, วีรพัฒน์ ปริยวงศ์, สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น, หุ้นไทย