“จุลพันธ์” ปัดกู้ ธ.ก.ส.ทำดิจิทัลวอลเล็ต ชี้เป็นกลไกงบประมาณ-ไม่กระทบสภาพคล่อง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันว่า ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กับสหภาพแรงงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ได้เข้าพบที่กระทรวงการคลังเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) หลังจากสหภาพฯ กังวลว่ารัฐบาลนำเงินของ ธ.ก.ส.ไปใช้ในดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งนี้ บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต และกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการตรวจสอบทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าทุกอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลต้องการความมั่นใจในเรื่องขั้นตอนทางกฎหมาย ก็อาจจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกชั้น ซึ่งในจุดนี้รัฐบาลไม่มีความกังวลใจ เพราะมั่นใจว่าได้ดำเนินการทุกอย่างตามกรอบของกฎหมาย

“ไม่ใช่การกู้เงินตามที่คนไปพูดทางสื่อว่ากู้เงิน ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด รัฐบาลกู้เงิน ธ.ก.ส.ไม่ได้ แต่มันเป็นกลไกทางงบประมาณที่เรียกว่า มาตรการกึ่งการคลัง เป็นกลไกงบประมาณอย่างหนึ่ง” รมช.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า ได้ยืนยันไปทางสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ใน 3 ประเด็น คือ กลไกทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับ และเสถียรภาพของ ธ.ก.ส.จะต้องแข็งแกร่ง ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ ธ.ก.ส. และที่สำคัญรัฐบาลถือหุ้น 100% ดังนั้นไม่มีทางที่จะรัฐบาลจะปล่อยให้กลไกนี้สั่นไหว

นายจุลพันธ์ ย้ำว่า เงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลยืนยันตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นหากนำเงินไปใช้หนี้คืนให้กับ ธ.ก.ส. ก็หมายความว่าเงินดังกล่าวจะกลับเข้ารัฐ ไม่เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเศรษฐกิจ

รมช.คลัง กล่าวถึงระบบบล็อกเชนที่จะใช้งานในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า กำลังพัฒนาและอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนกรณีแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ก็ได้มีการพูดคุยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในแอปฯ ที่คาดหวังว่าจะสามารถอัพเกรดเป็นซุปเปอร์แอปฯ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการดำเนินการพัฒนาระบบ เพื่อให้เชื่อมโยงความเป็นรัฐทั้งหมดเข้ามาอยู่ในแอปฯ เดียวกัน เพื่อไปเป็นจุดเชื่อมในอนาคต เช่น ลูกค้าของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารใดก็ตาม จะสามารถมาเชื่อมกับระบบของรัฐ และสามารถเข้าสู่ระบบดิจิทัลวอลเล็ตได้

“การพัฒนาเรื่องนี้ใช้งบประมาณไม่ถึง 1,000 ล้านบาท และจะสามารถใช้ทันในไตรมาสที่ 4 ส่วนแอปฯ เป๋าตัง ก็ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือก ที่รัฐบาลก็กำลังดูอยู่” นายจุลพันธ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 67)

Tags: ,