นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าจะปรับตัวลง รับปัจจัยกดดันจากการรายงานเงินเฟ้อ CPI เดือนมี.ค.ของสหรัฐเมื่อคืนนี้ที่ออกมา 3.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ 3.4% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 4.5% และค่าเงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งกดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนนี้ที่ปรับตัวลง
ขณะเดียวกันนักลงทุนยังกังวลความไม่แน่นอนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ที่อาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 2 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงต่อ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมายังออกมาค่อนข้างดี
โดยในช่วงเช้านี้ตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเปิดมาปรับตัวลงตามตลาดหุ้นสหรัฐ และวันนี้เป็นวันซื้อขายของตลาดหุ้นไทยก่อนหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ดัชนีอาจจะมีการพักตัว หลังจากปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก
ให้แนวต้าน 1,410 จุด แนวรับ 1,390 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
– ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (10 เม.ย.)ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,461.51 จุด ลดลง 422.16 จุด หรือ -1.09%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,160.64 จุด ลดลง 49.27 จุด หรือ -0.95% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,170.36 จุด ลดลง 136.28 จุด หรือ -0.84%
– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ดัชนีนิกเกอิเปิดตลาดที่ระดับ 39,090.68 จุด ลดลง 491.13 จุด หรือ -1.24% ขณะที่ ดัชนีฮั่งเส็งเปิดตลาดที่ระดับ 16,856.19 จุด ลดลง 282.98 จุด หรือ -1.65% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดตลาดที่ระดับ 3,013.57 จุด ลดลง 13.77 จุด หรือ -0.45%
– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (10 เม.ย.) 1,408.17 จุด เพิ่มขึ้น 7.06 จุด (+0.50%) มูลค่าการซื้อขาย 44,404.99 ล้านบาท
– นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,767.30 ล้านบาท (10 เม.ย.)
– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. (10 เม.ย.) เพิ่มขึ้น 98 เซนต์ หรือ 1.15% ปิดที่ 86.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (10 เม.ย.) อยู่ที่ 3.66 เหรียญ/บาร์เรล
– เงินบาทเปิด 36.66 อ่อนค่าหลังตัวเลข CPI สหรัฐสูงกว่าคาด หนุนดอลลาร์แข็งค่า
– รัฐบาลแถลงข้อสรุปโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 50 ล้านคน วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ใช้วิธีบริหารงบประมาณปี 67-68 บวกยืมเงิน ธ.ก.ส. ดูแลกลุ่มเกษตรกร 17 ล้านคน โดยตั้งงบประมาณจ่ายคืนรายปี ตั้งเงื่อนไข ผู้มีสิทธิ์รับเงินรายได้ต้องไม่เกิน 8.4 แสนบาท/ปี มีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท “จุลพันธ์” ชี้ดันจีดีพีปี 68 โตต่อเนื่อง 5% ด้าน “ศิริกัญญา” กังขาการยืมเงินมาแจกผิดวัตถุประสงค์ ธ.ก.ส. ต้องวัดใจพรรคร่วมรัฐบาลแบกเพื่อไทย ด้าน ธปท.ชี้แหล่งเงินตามมาตรา 28 ต้องผ่านกระบวนการตามหลักเกณฑ์
– กนง.เสียงแตกผลประชุมคณะกรรมการมีมติ 5 เสียง ต่อ 2 คงดอกเบี้ย ที่ 2.50% ชี้เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ย้ำจุดยืน กนง. ต้องการหนุนเศรษฐกิจไทยไปสู่ระดับศักยภาพ ไม่ได้ต้องการเป็นตัวฉุดต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เปิดแบบประเมินชี้ “ลดดอกเบี้ย” ยิ่งเอื้อต่อการก่อหนี้ แม้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ฉุดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว
– ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน เม.ย.67 ว่า ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากระดับ 69.38 จุด มาอยู่ที่ระดับ 70.46 เพิ่มขึ้น 1.56% โดยสาเหตุมาจากการอ่อนค่าของเงินบาท, แรงซื้อเก็งกำไร, ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย, นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และสถาน การณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
– ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน มี.ค. พบว่า ดัชนีทุกรายการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค.66 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับ ราคาพลังงานสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลาง ที่อาจยืดเยื้อบานปลายซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้า
หุ้นเด่นวันนี้
– CPALL (กสิกรไทย) ราคาพื้นฐานที่ 78 บาท เราคาดรายได้ของ CPALL จะเติบโต 10.2% YoY และกำไรหลักเติบโต 16.9% YoY ในปี 2567 ด้วยสมมติฐาน SSSG ที่ 3% (1Q67 อยู่ที่ +4%) ของธุรกิจ CVS หนุนจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นและการขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราเชื่อว่ากำไรสุทธิครึ่งแรกปีนี้ของ CPALL จะเติบโตขึ้นหนุนจากผลบวกจากฐานที่ต่ำและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลง ขณะที่คาดการเติบโตของกำไรสุทธิในช่วงครึ่งหลังปี 2567จะมีปัจจัยหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น
– TACC (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 7.80 บาท ระยะสั้นคาดกำไรไตรมาส 1/67 จะโตทั้ง q-q, y-y จากรายได้ที่ขายไป 7-Eleven ยังโตสดใสต่อเนื่อง เรายังคาดกำไรปี 2024 กลับมาโต +16% นอกจากนี้ยังได้ Sentiment บวกหลัง Digital Wallet สามารถใช้กับ 7-Eleven ได้ ภาพรวมกำไรผ่านจุดต่ำสุดปี 2566 และเร่งตัวในปี 2567 ตามเป้ารายได้ผู้บริหารที่คาด โต 10% y-y และแนวโน้มต้นทุนรวมค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงปีก่อน ขณะที่ไม่ต้องรับรู้ขาดทุนบริษัทร่วม TCI ตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป และคาดจะมีการกลับรายการด้อยค่าในระยะถัดไป Valuation ยังถูก เทรดเพียง 13 เท่า และคาด dividend yield 7-8% ต่อปี
– OSP (เมย์แบงก์) เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 23.20 บาท ระยะสั้นมี 2 ปัจจัยบวกขับเคลื่อนราคา 1) งบไตรมาส 1/67 คาดกำไรปกติจะเพิ่มขึ้น 25%YoY หนุนจากยอดขายเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 4% YoY และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 226 bps YoY เป็น 35.7% โดยได้รับแรงหนุนจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าที่ลดลง ประกอบกับประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นหลังปิดโรงงานผลิตขวดแก้วในปี 66 2) ความคืบหน้าโครงการ Digital Wallet หนุนการฟื้นตัวของภาคบริโภคและมองเป็นต่อผลประกอบการ OSP ในช่วงไตรมาส 4/67 ทั้งนี้เราคาดกำไรปกติในปี 67E ขยายตัวที่ 21% YoY จากยอดขายเครื่องดื่มทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัว กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนพลังงานลดลง และการออกสินค้าใหม่ ด้าน PER67 อยู่ที่ 23 เท่า หรือ -1.5 SD จากค่าเฉลี่ย 5 ปี ถือว่าไม่แพง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 67)
Tags: ตลาดหุ้น, วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา, หุ้นไทย