INTERVIEW: STA เทหน้าตักหมื่นล้านอัพกำลังผลิต ปั๊มมาร์เก็ตแชร์ตลาดโลกเพิ่มเท่าตัว!!

บมจ.ศรีตรัง แอโกร อินดัสทรี (STA) ประกาศศักดาเบอร์หนึ่งยางธรรมชาติในตลาดโลก ปรับกลยุทธ์ขยายกำลังผลิตเดินหน้าผลักดันส่วนแบ่งตลาดให้เพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 5-7 ปี พร้อมเดินเกมผลิตและส่งออกยางมีพิกัด (GPS) สอดรับกฎหมายใหม่ยุโรปให้ได้เป็นรายแรก ๆ ของโลกสร้างแต้มต่อบุกตลาดประเทศอื่น และช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หนุนมาร์จิ้นโต

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริหาร STA ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า กลุ่มศรีตรังมีส่วนแบ่งตลาดยางพาราของโลกราว 10% เป็นอันดับหนึ่ง เราตั้งเป้าหมายระยะยาวต้องการเพิ่มส่วนแบ่งขึ้นมาให้เป็น 20% ของดีมานด์โลก หรือมีกำลังการผลิต 2.6 ล้านตัน คาดว่าจะต้องใช้เวลาราว 5-7 ปีเพื่อไปสู่เป้าหมาย จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 2 ล้านตัน

กลุ่ม STA วางงบลงทุนสำหรับขยายกำลังการผลิตยางธรรมชาติปีละ 2,000 ล้านบาทในช่วงปี 2564-2569 ใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท โดยในปี 2569 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 4.12 ล้านตัน ซึ่งผลิตจริง 3.17ล้านตัน

ขณะเดียวกัน ธุรกิจถุงมือยาง ภายใต้การบริหารของ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์(ประเทศไทย) (STGT) ที่ STA ถือ 50.61% ก็มีแผนขยายกำลังการผลิตต่อเนื่องเช่นกัน โดยได้ตั้งงบลงทุนขยายกำลังการผลิตปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท

“อย่างที่บอกกลุ่มศรีตรัง เราเน้นขยายกำลังการผลิตไปก่อนเพื่อที่จะให้ถึงเป้าหมายที่เราต้องการคือมาร์เก็ตแชร์ 20% ของตลาดโลก” นายวีรสิทธิ์ กล่าว

 

วางเป้าปีนี้โตแน่พลิกกลับเป็นกำไรรับราคายางขาขึ้น

นายวีรสิทธิ์ กล่าวว่า ในปี 67 บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตต่อเนื่องทั้งด้านขยายกำลังการผลิต และยอดขายยางธรรมชาติ โดยมองภาพปีนี้ธุรกิจยางกลับมาสดใสขึ้น โดยเริ่มเห็นสัญญาณดีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

“จากที่ซบเซาไปมากในช่วงโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศสำคัญทั้งจีน สหรัฐ ยุโรปชะลอตัว ทำให้ดีมานด์ลดลง แต่ตั้งแต่ไตรมาส 4/66 จนถึงปัจจุบันดีมานด์ฟื้นกลับมามาก จึงคาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยางจะสดใสตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาซัพพลายลดลงจากปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้ราคายางสดใส อย่างน้อยครึ่งปีแรกราคายางเป็นขาขึ้น มากกว่าขาลง”

แต่ช่วงครึ่งปีหลังยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะปัจจัยต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยแบบ Soft Landing ได้หรือไม่ , เรื่องดินฟ้าอากาศ ภาวะเอลนีโญที่ยังมีต่อเนื่องในปี 67 จากผลกระทบปี 66 ที่ทำให้น้ำยางน้อยส่งผลให้วัตถุดิบไม่เพียงพอ รวมถึงสถานการณ์ของประเทศคู่ค้า

เขาย้ำว่า STA ยังคงเดินหน้าขยายกำลังการผลิต ปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3.8 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 3.6 ล้านตัน ด้วยการขยายโรงงานที่พิษณุโลก,มุกดาหาร, นราธิวาส และในเมียนมา จากทั้งหมดที่มี 40 โรงงาน อย่างไรก็ดี โรงงานเดินเครื่องผลิตจริงราว 2 ล้านตัน/ปี (เดินเครื่อง 20-25 วัน/เดือน)

ขณะที่ยอดขายปี 67 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตัน เติบโต 15% จากปี 66 ที่มียอดขาย 1.3 ล้านตัน ส่วนแบ่งตลาด 10% ของดีมานด์โลกที่มีทั้งหมด 13 ล้านตัน ทำให้มั่นใจปีนี้บริษัทจะกลับมามีกำไร จากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 434.37 ล้านบาท

นอกจากนี้ ราคายางแท่ง TSR20 ปรับตัวสูงขึ้นจะช่วยให้รายได้เติบโตขึ้นด้วย โดยราคา TSR20 (ตลาดสิงคโปร์) ช่วงม.ค.-มี.ค.67 เฉลี่ยที่ 157 เซนต์/กก. เพิ่มขึ้น 8% จากธ.ค.66 ที่ 145 เซนต์/กก. และล่าสุดวันนี้ (5 เม.ย.)อยู่ที่ 161.9 เซนต์/กก.

ธุรกิจถุงมือยางปี 67 ยอดขายทำนิวไฮ โต 20%

นายวีรสิทธิ์ กล่าวว่า ในปี 66 STGT มีปริมาณการขาย 31,384 ล้านชิ้น สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งสูงกว่าช่วงเกิดโควิดด้วยซ้ำ และมีปริมาณขายสูงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของตลาดโลก จากเดิมอยู่ในอันดับ 4-5 และอันดับ 3 ในปีเกิดการโควิดระบาด

และในไตรมาส 1/67 เพียงไตรมาสเดียว ทำสถิติใหม่ในการขายถุงมือยางรายไตรมาส โดยมียอดขายมากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าปี 67 ยอดขายจะทำ All Time High อีกครั้ง เพราะลูกค้าหลายรายเริ่มกลับมาสั่งสินค้า หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้เคลียร์สต็อกออกไปหมดแล้ว

STGT คาดการณ์ยอดขายถุงมือทั้งปี 67 จะเติบโตมากกว่า 20% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ล้านชิ้น โดยมองว่าธุรกิจถุงมือยางก็จะค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5%

“ดีมานด์ถุงมือเพิ่มขึ้นมาจากประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมาใช้ถุงมือในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา หลังจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้มีชนชั้นกลางมากขึ้น ก็อยากเข้าถึงเฮลธ์แคร์ ซึ่งเป็นตัว drive การใช้ถุงมือมากขึ้น และจากสังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งจากการระบาดของโควิดที่ผ่านมาทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น นอกเหนือจากที่ใช้ในวงการแพทย์ เช่น ธุรกิจอาหาร เป็นต้น”

 

ยาง GPS สร้างแต้มต่อ

นายวีรสิทธิ์ กล่าวถึงอีกกลยุทธ์สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ยางมีพิกัด (ยาง GPS) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดของยางได้ว่ามาจากพื้นที่ปลูกที่ไม่ได้มีการตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากสหภาพยุโรปได้กำหนดกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ทำให้ยางมีพิกัดของบริษัทจะสามารถตอบโจทย์ได้เป็นรายแรก ๆ และโดยในอนาคตคาดว่าสหรัฐและญี่ปุ่นก็น่าจะออกกฎเกณฑ์คล้ายๆ ยุโรป

และยางมีพิกัดยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า (Add Value) ให้กับยางของศรีตรัง และยางของประเทศไทย เพราะมีราคาสูงกว่ายางทั่วไป และจะช่วยให้ผลประกอบการของ STA ไม่ผันผวนตามราคายางในตลาดโลกมากนัก

“จากที่กลุ่มศรีตรังสามารถผลิตยางพิกัด ใครผลิตได้ก่อนก็จะมีความได้เปรียบคู่แข่งทันที อย่างน้อย 2 ปีกว่าที่คู่แข่งจะผลิตตามได้ ถ้าสหภาพยุโรป บังคับใช้ EUDR กลุ่มศรีตรัง และประเทศไทยก็จะได้เปรียบ อย่างน้อย 2 ปีแรก เพราะปัจจุบันมีผู้ผลิตยางชนิดนี้ได้น้อย ดังนั้นหากใครผลิตได้ก่อนก็จะมีความได้เปรียบคู่แข่งทันที”

ในปี 67 บริษัทตั้งเป้าจำนวนเกษตรกรที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าจะมาขึ้นทะเบียนกับบริษัทราว 100,000 ราย และในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 220,000 ราย ขณะที่มีเป้าหมายจะมียอดขายยางมีพิกัด 50% ของยอดขายรวมในปี 68

ปัจจุบัน STA มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออก 90% ส่วนในประเทศ 10% โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน สัดส่วน 50% ยุโรป 20-30% สหรัฐ 10-20% ที่เหลือเป็น อินเดีย และอาเซียน

ส่วนกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มองว่าจะช่วยเพิ่มดีมานด์ยางให้สูงขึ้น เพราะตัวรถ EV มีแรงบิดสูงทำให้เวลาออกตัวทำให้หน้ายางถูกับพื้นและสึกหรอได้เร็วกว่ารถสันดาป เท่าที่ทราบยางล้อรถ EV กินหน้ายางเร็วกว่า 30% ระยะเวลาการใช้ยางลดลง 30% ทำให้มี Turnover การใช้ยางสูงขึ้น ดีมานด์การใช้ถี่ขึ้นเร็วขึ้นก็ช่วยสนับสนุนยอดขายยางเพิ่มขึ้นด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 67)

Tags: , , , , , , , , ,