BPS ปิดเทรดวันแรก 1.23 บาท เพิ่มขึ้น 0.33 บาท หรือ +36.67% จากราคา IPO 0.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย1,855.41 ล้านบาท จากราคาเปิด 2.12 บาท ราคาสูงสุด 2.20 บาท ราคาต่ำสุด 1.20 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุว่า บมจ.บีพีเอส เทคโนโลยี (BPS) มุ่งเน้นการเป็นศูนย์รวมสินค้าและบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยธุรกิจการจัดจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้ามีการแข่งขันที่สูง อย่างไรก็ตามบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการจัดหาสินค้าที่มีมาตรฐานและคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยสินค้าที่บริษัทจำหน่ายมีทั้งตราสินค้าของบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและตราสินค้าอื่น รวมทั้งมีการจัดชุดอุปกรณ์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (Kitting Box) ซึ่งช่วยควบคุมต้นทุนสินค้า สะดวกรวดเร็วในการจัดหาและติดตั้ง และตอบโจทย์ด้าน Supply Chain Management ของลูกค้า
นอกจากนี้ยังขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์เซลล์ทั้งการติดตั้งและจัดหาอุปกรณ์ การจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีและการสื่อสาร เช่น อุปกรณ์สมาร์ทโฮม (Smart Home) อุปกรณ์สำรองไฟสำหรับ Data center โดยกลยุทธ์ของบริษัทในปัจจุบันเข้าสู่การเป็น Solution Provider เพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิมให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการประเภทเทคโนโลยีและดิจิทัลแบบครบวงจร ซึ่งบริษัทได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่สามารถให้บริการระบบโทรคมนาคมที่มีโครงข่าย (Network Service) แก่บุคคลทั่วไปในปี 2566
การขยายฐานลูกค้า ผลิตภัณฑ์ และงานโครงการใหม่ช่วยหนุนรายได้ โดยรายได้หลักของบริษัทมาจากการจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้าราวร้อยละ 80 ของรายได้รวม โดยคาดอุปสงค์การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น และการขยายฐานลูกค้าไปสู่ B2C และต่างประเทศ การเพิ่มผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการงานโครงการใหม่ๆ เป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ในอนาคต เช่น โครงการโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร Fiber to the Home (FTTX) ที่เพิ่งเริ่มให้บริการในไตรมาส 4/66 ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ประจำให้กับบริษัท
บล.ทิสโก้ คาดกำไรปี 2567 เติบโตตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์และโครงการใหม่ของบริษัท นอกจากนี้การขยายฐานลูกค้าไปสู่ B2C ซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่า รวมทั้งแผนเพิ่มโครงการใหม่ รวมทั้งปริมาณงานโครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของที่อยู่อาศัยและโรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2567 ช่วยหนุนกำไร ขณะที่การบริหารสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ (ลดต้นทุนคงที่) ส่งผลให้กำไรสุทธิขยายตัวจากปี 2566
การระดมทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจที่เป็น S-curve ใหม่ในครั้งนี้มีความเหมาะสม และมีปัจจัยขับเคลื่อนรายได้ที่ต้องติดตามต่อ ดังนี้ 1) การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV (EV Charger) 2) โครงการโซลาร์เซลแบบลอยบนผิวน้ำ (Solar Floating) ให้แก่กลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม 3) แผนการให้บริการจัดหา ติดตั้ง สายไฟเบอร์ออพติก สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์อาคารสูง 4) แผนต่อยอดการให้บริการและคิดค่าบริการแก่ลูกค้าในกลุ่มคอนโดมิเนียม สำนักงาน โรงงาน ให้แก่ลูกค้าประเภท FTTX และโซลาร์เซล
ความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1) ความไม่สม่ำเสมอของรายได้ 2) สินค้าคงคลังล้าสมัย โดยการประเมินเบื้องต้น อิงจาก PER เฉลี่ยของ mai-INDUS (ตัดหุ้นที่ค่า PER สูงผิดปกติออก) ที่ 19.5 เท่า มองว่ามูลค่าเหมาะสมของบริษัท ณ ราคา IPO มี upside
BPS ประกอบธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้าภายในอาคาร สินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์โซลาร์เซล รวมทั้งบริการจัดหา ออกแบบ ติดตั้ง โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลแบบติดตั้งบนหลังคา ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า โครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ โดยมีความตั้งใจให้บริษัทเป็นศูนย์รวมสินค้าและบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย นอกจากนี้บริษัทยังต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ให้เป็น Solution Provider ที่มุ่งเน้นตอบสนองการเป็น One Smart Builder (OSB) และ One Smart Factory (OSF) ให้แก่ลูกค้า ซึ่งสัดส่วนรายได้หลักมาจากอุปกรณ์สำหรับงานเชื่อมต่อไฟฟ้าในอาคาร และชุดอุปกรณ์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (Kitting Box)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 67)
Tags: BPS, บล.ทิสโก้, บีพีเอส เทคโนโลยี, หุ้นไทย, อุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้า