KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้การเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่สาเหตุสำคัญ คือ การรุกคืบชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจีน ที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ผลักดันให้ยานยนต์จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวทีโลก โดย EV เป็นเพียงหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่เร่งแนวโน้มดังกล่าว
การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน สร้างแรงกระเพื่อมมายังเศรษฐกิจและยานยนต์ไทยมากขึ้น โดยผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น แต่จะขยายวงกว้างไปยังตลาดรถปิกอัพ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไทย และตลาดส่งออกของไทยอีกด้วย
- EV แค่จุดเริ่มต้น “ปิกอัพไทย” เสี่ยงโดนจีนแย่งตลาดด้วย
เมื่อพิจารณาโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ของจีนไปทั่วโลก พบว่า จีนส่งออกทั้ง EV และรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดย EV มีสัดส่วนประมาณ 30% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดจากจีน ส่วนที่เหลืออีก 70% เป็นรถยนต์สันดาปภายใน ที่มีรถปิกอัพรวมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นคู่แข่งโดยตรงในตลาดส่งออกรถปิกอัพสำคัญของยานยนต์ไทย
โดยเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นในตลาดออสเตรเลียเมื่อปี 2566 ที่รถปิกอัพของจีนสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากถึง 8% ของยอดขายกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งหมดของออสเตรเลียภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ดังนั้นผลกระทบต่อการส่งออกรถปิกอัพไทยจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เร็ว แม้ยังไม่มีการเปิดตัวปิกอัพ EV
- การลงทุนจากจีน อาจไม่ช่วยต่อยอดยานยนต์ไทย
การเข้ามาของทุนจีนในปัจจุบัน เป็นการใช้กำลังการผลิตส่วนเกินในจีนมาเจาะตลาด มากกว่าเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกแบบญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980s โดยยอดขายรถยนต์ในจีน มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งจะกดดันให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ตลาดส่งออกจึงเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับยานยนต์จีนในการระบายสต็อกรถยนต์
ขณะที่จีนไม่สามารถส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลก ท่ามกลางการแบ่งขั้วมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น อีกทั้งยุโรปยัง มีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จีนมากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของตัวเอง ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นเป้าหมายหลักถัดไปสำหรับการระบายรถยนต์จีน โดยเฉพาะไทย ที่มีมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อ EV และยังยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีน ผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก China-ASEAN FTA ซึ่งไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดให้นำเข้ารถไฟฟ้า
นอกจากนี้ การลงทุนของจีนอาจสร้างความน่ากังวลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากขึ้น ด้วยปัจจัยภายใต้ภาวะอุปสงค์และอุปทานตลาดรถยนต์ของไทยที่ปรับแย่ลง ได้แก่
1.ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยผ่านจุดสูงสุด และเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวนับตั้งแต่ปี 2561 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ จะเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลงต่อเนื่อง และในอนาคตมีแนวโน้มไม่สามารถรองรับ EV จีนที่ทะลักเข้ามาในตลาด และที่กำลังจะมีการผลิตภายในประเทศ ทางออกที่สำคัญ คือ ความสามารถในการส่งออก EV จากไทยไปยังประเทศอื่น จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไปได้
2.ไทยต้องแข่งกับจีนโดยตรงในตลาดส่งออกรถยนต์ในต่างประเทศ จากการที่ผู้ประกอบการจีนมีการส่งออกและเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่างๆ โดยตรง จะกดดันให้ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกรถยนต์ของไทยมีขนาดเล็กลง ทำให้โอกาสสำหรับไทยในการเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์ EV มีความท้าทายมากขึ้น
3.มูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (domestic value add) ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์ EV 1 คัน ต่ำกว่าการผลิตรถยนต์ ICE อย่างมาก เพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มสินค้าเดิมที่ไทยสามารถผลิตได้ มีแนวโน้มต้องลดราคาเพื่อแข่งกับผู้ประกอบการจีน เพราะบริษัทจีนสามารถนำเข้าโดยตรงจากจีนด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าไทยมาก ทำให้ถึงแม้จะมีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทย แต่ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์จะน้อยกว่าในอดีต
- วิกฤตยานยนต์…สายเกินแก้แล้วหรือยัง?
การเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ทั่วโลก ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จะเป็นโอกาสของไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) เริ่มชะลอตัวลงทั่วโลก แต่ยอดขายรถยนต์ไฮบริด (HEV) กลับขยายตัวได้มากขึ้น สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ทำให้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครจะเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ยุคใหม่ที่แท้จริง และอาจช่วยยืดเวลาสำหรับรถยนต์สันดาปภายในได้อีกระยะ
นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าค่ายรถจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง เพื่อดันไทยเป็นหนึ่งในฐานการส่งออก หากการกีดกันสินค้าจากสหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่อาจเอื้อให้เกิดการโอนถ่ายความรู้เทคโนโลยีให้กับไทยได้
นโยบายสนับสนุน EV ในปัจจุบันเอื้อต่อการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศมากกว่า ซึ่งส่งผลให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับจากการผลิต EV ลดลงมากกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันและอนาคต หากต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำในภาคยานยนต์ไว้ และอาจจำเป็นต้องทบทวนมาตรการด้านการให้เงินอุดหนุน EV เพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างและราคาในตลาดรถยนต์
รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนด และตรวจวัดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content ratio) เพื่อซื้อเวลาให้ภาคยานยนต์ในระยะสั้น และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้ยังคงได้รับประโยชน์และมีเวลาปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในระยะยาว
- โรงงานรถยนต์-ชิ้นส่วน เสี่ยงปิดตัวสูง หากปล่อยตามกลไกตลาด
สถานการณ์ปัจจุบัน มีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของบางราย ที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในสมรภูมิใหม่ หากภาครัฐปล่อยไปตามกลไกการแข่งขันในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่าย ได้เสียส่วนแบ่งตลาดในไทยให้กับ EV จีนมากกว่า 10% ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สต็อกรถยนต์ ICE เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังการผลิตรถยนต์ ICE เริ่มปรับลดลง แต่โดยรวมยังไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้มากนัก จากข้อจำกัดเรื่องต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อระบายสินค้า และกดดันอัตรากำไรของบริษัทยานยนต์ในประเทศ
อย่างไรก็ดี ค่ายรถยนต์บางรายอาจไม่สามารถสู้การตัดราคาขายแข่งได้ และมีแนวโน้มขาดทุน ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดการปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่ง คล้ายกับสถานการณ์ที่ค่ายรถญี่ปุ่นต้องเผชิญในประเทศจีน หากมีบริษัทจำเป็นต้องปิดตัวก็จะส่งผลเพิ่มเติมต่อการจ้างงาน และเศรษฐกิจไทยในวงกว้างมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 67)
Tags: ยานยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ไฟฟ้า