สแกน “ธุรกิจสายมู” ปลุกพลังศรัทธา สู่ Soft Power ขับเคลื่อนศก.ไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จัดทำบทวิเคราะห์ “ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา” โดยพบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 นอกจากธุรกิจด้านความบันเทิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรมของไทย เช่น ละครเวที นาฏศิลป์ การแสดงชนิดต่างๆ รวมทั้ง ดนตรี และมหรสพ จะมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจแล้ว ส่วนหนึ่งของ Soft Power ด้านศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและมีความนิยมสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ยังมีความเชื่อมโยงกับ “ธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา” หรือ “ธุรกิจสายมู” ซึ่งเป็นอีก 1 ธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

โดยธุรกิจได้เปลี่ยน “ความเชื่อความศรัทธา” ให้เป็นสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดยนำศาสตร์ “สายมู” มาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด (Muketing : MU + Marketing) ทั้งการตลาดออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการ โดยจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น ผ่าน Influencer, ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความเชื่อ หรือผู้มีชื่อเสียง มาสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์/ความรู้สึกกับผู้บริโภค เช่น

– วอลเปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ที่มีรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือรูปไพ่ต่างๆ

– เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าปูที่นอน ที่นำสีมงคลตามวันเกิดเข้ามาเป็นจุดขายทางการตลาด

– เครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ที่มีการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิฆเนศ ท้าวเวสสุวรรณ หินมงคลต่างๆ มาออกแบบดีไซน์ในรูปแบบแฟชั่น

– เครื่องสำอาง ที่นำทองคำปลุกเสก หรือว่านที่มีความเชื่อว่าเสริมสิริมงคลต่างๆ มาเป็นส่วนผสม

– หมายเลขโทรศัพท์มงคล ที่มีกลุ่มตัวเลขมงคลที่ผู้ใช้มีความเชื่อว่าจะส่งพลังในด้านต่างๆ ให้กับผู้ใช้งาน

– ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ได้นำศาสตร์ความเชื่อความศรัทธามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การออกแบบให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ย การปรับเปลี่ยนสีของตัวบ้าน และห้องต่างๆ ให้ถูกโฉลกกับผู้ซื้อ หรือการตกแต่งบ้านที่ตรงกับดวงชะตาของผู้บริโภค เป็นต้น

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในปี 2562 – 2566 ธุรกิจด้านความเชื่อและความศรัทธา มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น

– ปี 2562 จัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 15.4 ล้านบาท รายได้รวม 24.28 ล้านบาท

– ปี 2563 จัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 7.59 ล้านบาท รายได้รวม 28.76 ล้านบาท

– ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย ทุนจดทะเบียน 13.41 ล้านบาท รายได้รวม 61.28 ล้านบาท

– ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย ทุนจดทะเบียน 27.45 ล้านบาท รายได้รวม 148.99 ล้านบาท

– ปี 2566 จัดตั้ง 33 ราย ทุนจดทะเบียน 26.88 ล้านบาท (รายได้อยู่ระหว่างรวบรวม)

– ปี 2567 (ไตรมาสแรก) จัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 7.51 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามพื้นที่ตั้งธุรกิจ จะพบว่ามีธุรกิจสายมูอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

– กรุงเทพฯ 62 ราย คิดเป็นสัดส่วน 46.27% ทุนจดทะเบียน 63.46 ล้านบาท

– ภาคกลาง 35 ราย คิดเป็นสัดส่วน 26.12% ทุนจดทะเบียน 34.34 ล้านบาท

– ภาคตะวันออก 13 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9.70% ทุนจดทะเบียน 11.05 ล้านบาท

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5.22% ทุนจดทะเบียน 6.55 ล้านบาท

– ภาคเหนือ 7 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5.22% ทุนจดทะเบียน 2.99 ล้านบาท

– ภาคใต้ 6 ราย คิดเป็นสัดส่วน 4.48% ทุนจดทะเบียน 14.40 ล้านบาท

– ภาคตะวันตก 4 ราย คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ทุนจดทะเบียน 3.10 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ปัจจุบัน หลายจังหวัดใช้กระแส “ความเชื่อความศรัทธา” เป็นไฮไลท์ท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าท้องถิ่น เป็น “การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา” หรือการท่องเที่ยวสายมู โดยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่นิยมมาท่องเที่ยวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย เนื่องจากมีรากฐานทางวัฒนธรรม และความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน

ซึ่ง “การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา” ถือเป็นรายได้สำคัญสำหรับไทย สามารถกระจายรายได้สู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าชุมชุม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้เป็นอย่างดี

ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา หรือ “ศาสตร์มูเตลู” ได้รับความนิยมจากทุกกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มอายุจะมีวิธีการ มูเตลูที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่มีความเชื่อค่อนข้างสูงได้แก่ กลุ่ม Gen Z โดยการเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากสื่อโซเซียลมีเดีย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดกว่าทุกช่วงกลุ่มวัย หากธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้า และส่งเสริมการตลาดได้ตรงกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้สูงขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจ/กิจกรรมด้านความเชื่อความศรัทธา มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบปริมาณของผู้ประกอบธุรกิจด้านความเชื่อในตลาด ส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา

ดังนั้น หากต้องการให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ หรือขยายธุรกิจสู่การให้บริการอื่นๆ การจดทะเบียนนิติบุคคล จะมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือ และต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 67)

Tags: , ,