นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เนื่องจากหน่วยรับงบประมาณ มีระยะเวลาดำเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อีกประมาณ 5 เดือน ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ภายในระยะเวลาข้างต้น คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
รวมทั้งกรมบัญชีกลาง ยังได้กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีความถูกต้อง เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ได้กำหนดมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
1. ให้เร่งเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้สามารถเบิกจ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายที่ก่อหนี้แล้ว สำหรับรายการที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เร่งรัดการก่อหนี้และเบิกจ่ายโดยเร็ว
2. กำหนดระยะเวลาส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น และเบิกจ่ายตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายภาพรวม 93% การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 98% การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน 75% และเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายภาพรวม รายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน 100%
4. ให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการดังนี้
4.1 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการ หรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป
4.2 รายการลงทุนปีเดียวให้ก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.67 สำหรับรายการผูกพันใหม่ให้ก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.67
4.3 ให้หัวหน้าหน่วยงานเจ้าของงบประมาณกำกับดูแล บริหารจัดการเร่งรัดการดำเนินการ เพื่อให้สามารถก่อหนี้และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวด้วยว่า นอกจากการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ที่จะสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังกล่าวแล้ว กรมบัญชีกลาง ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจใ นการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 175 ทีม โดยแบ่งเป็น ส่วนกลาง 90 ทีม ซึ่งมีข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้าทีม รับผิดชอบหน่วยงานที่ได้รับรายจ่ายลงทุนในส่วนกลาง คนละ 2-3 หน่วยงาน และเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และส่วนภูมิภาค 85 ทีม (คลังเขต 9 ทีม คลังจังหวัด 76 ทีม) ทำหน้าที่ติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ และเป็นเลขานุการคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำจังหวัด
รวมทั้งมีคณะทำงานกำกับดูแลการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่าย ทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงาน ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ให้แก่คณะทำงานเฉพาะกิจฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 67)
Tags: กรมบัญชีกลาง, แพตริเซีย มงคลวนิช