ผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงให้เห็นในวันนี้ (26 มี.ค.) ว่า ราคาที่ดินของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 33 ปีในปี 2566 และหวนคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งนับเป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มกระเตื้องขึ้น หลังจากญี่ปุ่นพยายามหาทางหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจซบเซานานหลายปี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาที่ดินได้ปรับตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นของญี่ปุ่นและชาวต่างชาติกลับมาเยือนญี่ปุ่นอีกครั้งหลังผ่านพ้นช่วงโควิด-19 ระบาด
ราคาที่ดินเฉลี่ยทั่วประเทศปรับตัวขึ้น 2.3% ในช่วง 1 ปีจนถึงวันที่ 1 ม.ค.ปีนี้ ซึ่งถือเป็นการเติบโตในอัตราแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่การปรับตัวขึ้น 11.3% ในปี 2534 โดยเวลานั้นราคาที่ดินเริ่มอ่อนตัวลงหลังเกิดภาวะฟองสบู่แตกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980
“แนวโน้มขาขึ้นของราคาที่ดินมีความแข็งแกร่งขึ้น” เจ้าหน้าที่กระทรวงที่ดินญี่ปุ่นระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า “การเคลื่อนไหวไปสู่การสิ้นสุดลงของภาวะเงินฝืดเริ่มกระจายตัว”
ราคาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยปรับตัวขึ้น 2.0% ในปี 2566 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534 เช่นกัน หลังจากปรับตัวขึ้น 1.4% ในปีก่อนหน้า
ราคาที่ดินในพื้นที่อุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 4.2% ในปี 2566 โดยปรับขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 และปรับขึ้นในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์สำหรับโรงงานโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เนื่องจากการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซ
ราคาที่ดินในพื้นที่ 3 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงโตเกียว โอซากา และนาโงย่า ปรับตัวขึ้น 3.5% ซึ่งเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวขาเข้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 67)