ปัจจุบัน จำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในไทยมีมากถึง 2-3 ล้านราย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดและความนิยมของโซเชียลมีเดียอย่างติ๊กต๊อก (TikTok) ที่เป็นศูนย์รวมของผู้คนมากมายให้ได้ออกมาปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์และทำคอนเทนต์
คุณปู สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ เทลสกอร์ (Tellscore) บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มบริหารจัดการอินฟลูเอนเซอร์รายแรกของประเทศไทย ได้ออกมาร่วมแชร์มุมมองเกี่ยวกับอนาคตของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในเวทีสัมมนางาน SEAT 2024 (South East Asia Technology Conference 2024) ภายใต้หัวข้อ “The Future of Influencer”
Content Creator Economy : โลกแห่งการทำคอนเทนต์
คุณปูกล่าวว่า ภาพรวมภูมิทัศน์ของการสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication Landscape) มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ด้วยคอนเทนต์จากช่องทางที่หลากหลาย ไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มโซเชียมีเดียต่างๆ จากสำนักข่าว บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โฆษณาดิจิทัล โปรแกรมค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต (Search Engine) หรือแม้กระทั่งเป็นคอนเทนต์จากเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) ก็ตาม และที่สำคัญมากในปัจจุบันคือ “คอนเทนต์” จากเหล่าครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คอนเทนต์ (Content) หรือ เนื้อหา ถือเป็นหัวใจสำคัญใน Content Creator Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพราะแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน คำกล่าวที่ว่า Content is King. ก็ยังคง “ใช่” อยู่ดี
อินฟลูเอนเซอร์ : ทางเลือกใหม่ในการเสพข่าวสาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่ออยู่ในสภาพของ Fragmentation หรือรูปแบบการเสพสื่อของผู้บริโภคมีการแบ่งกลุ่มแยกย่อยเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งรายงานจาก Reuters Institute ชี้ว่า แม้คนไทยจะเสพสื่อผ่านช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่มาก แต่เปอร์เซ็นต์ความเชื่อถือในสื่อกลับไม่สูงตามไปด้วย
ในทางกลับกันผู้คนได้หันมาสนใจและเสพข้อมูลผ่านทางอินฟลูเอนเซอร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนก็จะมีรูปแบบและเนื้อหาของคอนเทนต์ที่แยกย่อยแตกต่างกันไป ซีอีโอของ Tellscore ได้ยกตัวอย่างของการเสพข่าวบนติ๊กต๊อกทางแอคเคาท์ของคุณน้อง ธัญญารัตน์ (@ThanyaratReporter) และคุณนิว พลวัชร (@NewPolawat) ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ควบคู่กันไป ด้วยช่องทางส่วนตัวที่เล่าข่าวอย่างกระชับ เป็นที่ถูกอกถูกใจสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการเสพสื่อที่รวดเร็วและเข้าใจง่าย
โลกของสื่อที่เนื้อหาและแพลตฟอร์มแยกย่อยออกไปตามความสนใจของผู้เสพ จึงถูกเชื่อมโยงได้ด้วยคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีความเป็นอิสระในการทำคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจได้มากกว่า
ดังนั้น เราจึงเห็นว่า สำนักข่าวหรือบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อมีช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านทางแพลตฟอร์มของผู้ประกาศข่าวในเครือ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกาศข่าวหรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประเภทข่าวหลายรายก็หันมาเปิดบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อ หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับการทำคอนเทนต์ด้วยตนเองจนได้รับความนิยม
บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ในอนาคต
จากปรากฏการณ์ Framentation ที่ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของสื่อกระจายตัวไปตามเหล่าอินฟลูเอนเซอร์น้อยใหญ่นี้ Content Creator Economy จึงเติบโตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งระบบเศรษฐกิจเช่นนี้นอกจากจะเป็นช่องทางหารายได้ของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นอาชีพทางเลือกใหม่สำหรับคนทั่วไปด้วยแล้ว ยังเป็นโอกาสในการนำเสนอเนื้อหา ช่วยลดความเอนเอียงจากสื่อกระแสหลัก เสริมสร้างความหลากหลายและความเท่าเทียมในวงการสื่อมากขึ้น เสมือนกับการทำหน้าที่ประสานผู้บริโภคจากการแบ่งกลุ่มแยกย่อยเฉพาะทางเข้ามารวมกันอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายในการรักษามาตรฐานและจริยธรรมของเนื้อหาด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 67)
Tags: Content Creator, Influencer, Media Talk, คอนเทนต์, อินฟลูเอนเซอร์, โซเชียลมีเดีย