อินเดียหวังขึ้นแท่นมหาอำนาจอุตสาหกรรมชิปโลกในเวลา 5 ปี

นายอัศวิน ไวษณวะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงการรถไฟ และกระทรวงการสื่อสารอินเดียระบุว่า อินเดียหวังจะก้าวขึ้นมาอยู่ใน 5 อันดับแรกของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ นายไวษณวะให้สัมภาษณ์ในรายการ Street Signs Asia ของสถานีโทรทัศน์ช่องซีเอ็นบีซีเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มี.ค.ว่า “อุตสาหกรรมชิปนั้นเป็นตลาดที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน ห่วงโซ่คุณค่าโลก (global value chains) และห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chains) ก็มีความซับซ้อนอย่างสูงภายใต้บริบทในปัจจุบัน เราคิดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า เราจะอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก”

ข้อมูลจากเทรนด์ฟอร์ซ (TrendForce) บริษัทมาร์เก็ตอินเทลลิเจนซ์ระบุว่า ณ เดือนธ.ค. 2566 ไต้หวันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 46% ของศักยภาพการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โลก ตามมาด้วยจีนที่ 26%, เกาหลีใต้ 12%, สหรัฐ 6% และญี่ปุ่น 2%

อินเดียจะได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทต่าง ๆ พิจารณาลดการพึ่งพาจีน เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้

นายไวษณวะระบุว่า อินเดียมองตนเองในฐานะ “พันธมิตรห่วงโซ่คุณค่าที่เชื่อถือได้” สำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, อิเล็กทรอนิกส์ทางอุตสาหกรรมและกลาโหม และอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า นัยหนึ่งก็คือผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทที่ต้องออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์

ในวันพฤหัสบดีที่ 14 มี.ค. ควอลคอมม์ (Qualcomm) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปจากสหรัฐ ได้เปิดศูนย์ออกแบบใหม่ในเมืองเชนไน โดยศูนย์ดังกล่าวมุ่งเป้าไปยังการออกแบบเทคโนโลยีไร้สายและสร้างงาน 1,600 ตำแหน่งในอินเดีย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 67)

Tags: , ,