จับตาสัปดาห์นี้ รัฐบาลจะมีการแถลงความคืบหน้าโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ หลังครบกำหนดเส้นตายที่คณะทำงานที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษารายงานความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะต้องนำรายละเอียดเนื้อหาที่ได้ไปศึกษาตามที่ได้รับมอบหมาย มาสรุปต่อที่ประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าจะมีแนวทางหรือมีการปรับเงื่อนไขใหม่หรือไม่ หลังจากที่ 2 หน่วยงานหลัก อาทิ ป.ป.ช. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้
“ดิจิทัลวอลเล็ต” ถือเป็นโครงการเรือธงที่รัฐบาลประกาศไว้ในการหาเสียง แต่หลังจากผ่านมาแล้ว 6 เดือน กลับยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกดปุ่มเริ่มโครงการได้เมื่อไร
“อินโฟเควสท์” พาย้อนดูไทม์ไลน์ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เปรียบเทียบเงื่อนไขเก่า vs เงื่อนไขใหม่
นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นทางออกสำหรับโครงการนี้ไว้ 4 แนวทางด้วยกัน คือ
1. เดินหน้าโครงการต่อไป เพราะถือว่ารัฐบาลได้ให้สัญญาประชาคมไว้ ทำให้ประชาชนคาดหวังกับโครงการนี้อยู่ แต่รัฐบาลก็ต้องมีแนวทางป้องกัน และต้องทำให้โครงการมีความโปร่งใส เพราะมีคำแนะนำจาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และต้องฟังเสียงจากประชาชน และนักวิชาการด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ถึงความจำเป็นในการดำเนินโครงการ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ได้ฟันธง และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด และต้องมีการบริหารภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง
2. ลดขนาดของโครงการลง โดยเฉพาะกรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีปัญหาว่าไม่ตรงกับตอนที่ประกาศหาเสียงไว้ เพราะรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเปลี่ยนเงื่อนไขให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรก จึงไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะตัดสินใจแบบนี้หรือไม่
3.ขยายเงื่อนเวลาในการดำเนินโครงการออกไป แบ่งเป็นหลายปี แต่จะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลงไป
4.ตัดสินใจยกเลิกโครงการไปเลย เพราะอาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้
“เรื่องแรกเป็นไปตามฐานเสียง แต่ต้องทำให้กฏเกณฑ์ถูกต้อง 2.ไม่เป็นไปตามฐานเสียง ลดความเสี่ยงลง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย และ 3.ใช้เวลานาน ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าแต่ก็ลดความเสี่ยงลง ก็แล้วแต่ว่า รัฐบาลจะเลือกทางไหน” นายสมชาย กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”
ส่วนแนวทางที่ 4 นั้นมองว่า เป็นไปได้น้อยที่สุด และเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ทำ เพราะจะกระทบคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ทำให้เกิดความไม่พอใจ และอาจกระทบกับฐานเสียงได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ขอชี้ว่ารัฐบาลจะเลือกใช้แนวทางใด เพราะแต่ละแนวทาง รัฐบาลต้องคิดถึงข้อดี-ข้อเสีย
ส่วนไทม์ไลน์ของโครงการที่ต้องขยับเลื่อนออกไปนั้น นายสมชาย มองว่า เรื่องไทม์ไลน์ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเท่าไร เพราะเรื่องนี้ต้องดูให้ครบถ้วนและเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ และไทม์ไลน์ที่จะทำโครงการนี้ก็เลยเวลามาพอสมควร และมองว่า โครงการนี้เป็นเพียงโครงการเสริม เพราะถ้าไม่มีโครงการนี้ เศรษฐกิจก็เดินหน้าต่อไปได้ และรัฐบาลก็มีนโยบายหลายๆ ด้าน ที่กำลังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม อยากฝากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อประเทศ ให้สามารถเดินหน้าตามกฏหมายและไม่เป็นปัญหาในด้านวินัยทางการคลัง และเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลเอง ที่สามารถดำเนินโครงการได้อย่างราบรื่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 67)
Tags: SCOOP, ZoomIn, คณะกรรมการกฤษฎีกา, ดิจิทัลวอลเล็ต, ป.ป.ช., เศรษฐา ทวีสิน