ฟิทช์ คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน MTL ที่ ‘A-’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength Rating: IFS Rating) ของ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ที่ ‘A-’ และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating หรือ IDR) ของ MTL ที่ ‘BBB+’ โดยอันดับเครดิตทั้งสองมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพพร้อมกันนี้

ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating) ของ MTL ที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตของตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของบริษัท ที่ ‘BBB’

การประกาศคงอันดับเครดิตของ MTL สะท้อนถึงโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทในธุรกิจประกันภัยที่ยังแข็งแรง (Favorable Company Profile) และระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของบริษัทน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะปานกลางหลังจากมีผลกำไรลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา แม้ว่าบริษัทยังคงมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในระดับสูง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต โครงสร้างการดำเนินงานที่แข็งแรง: ฟิทช์ประเมินโครงสร้างการดำเนินงานของ MTL อยู่ในระดับแข็งแรง

จากโครงสร้างธุรกิจ (business profile) ที่แข็งแกร่งและการมีบรรษัทภิบาลที่ดี เมื่อเทียบกับบริษัทประกันชีวิตอื่นภายในประเทศไทย MTL มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 11% ของจำนวนเบี้ยประกันรวมของตลาด และได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินงานและด้านเทคนิคจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBank; อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว: BBB/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Ageas Insurance
International N.V. (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว: A+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)

อีกทั้ง MTL ยังมีการกระจายตัวของโครงสร้างธุรกิจที่ดี ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ครอบคลุม และฐานลูกค้าภายในประเทศ รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย

ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง: MTL มีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งซึ่งช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท และได้รับผลประเมินระดับเงินกองทุนของบริษัทว่าอยู่ที่ระดับแข็งแกร่ง (‘Strong’) โดยใช้แบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ ประกอบกับข้อมูลทางการเงินของบริษัท ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ซึ่งรวมการนับตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น MTL มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมายที่ 344% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140% และอัตราส่วนหนี้สิน (financial leverage) ของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 11% จาก 14% เนื่องจากการชำระคืนตราสารด้อยสิทธิบางส่วน ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่าฐานะเงินกองทุนของบริษัทน่าจะยังคงมีเสถียรภาพต่อเนื่องในปี 2567

ผลประกอบการที่ฟื้นตัวเล็กน้อย: ผลประกอบการของ MTL ได้ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 6.8% ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 จากที่เคยลดลงไปต่ำกว่า 6.5% ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 (2564: 10.2%) โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยรายปีของบริษัทในช่วง 3 ปี (ปี 2564 – ไตรมาส 3 ปี 2566) อยู่ที่ 7.9% (2564-3Q66: 8.9%) ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงระดับที่เหมาะสมสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท ฟิทช์ คาดว่า การเติบโตของมูลค่ากำไรของธุรกิจใหม่ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ สัญญาคุ้มครอง และสัญญาเพิ่มเติม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ IFRS17 ตลอดจนโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นผ่านการเป็นพันธมิตรกับธนาคารกสิกรไทย และการเพิ่มประสิทธิภาพจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของเครือข่ายการกระจาย

สัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ยังคงสูง: บริษัทปรับเพิ่มสัดส่วนลงทุนในตราสารทุนเพิ่มขึ้นเป็น 81% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 จาก 77% ณ สิ้นปี 2564 แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยมีอัตราเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2564 –

ไตรมาส 3 ปี 66) อยู่ที่ 241% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 243% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับลงทุน (below investment grade) ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 95% ของสัดส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เทียบกับ 90% ณ สิ้นปี 2565

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน): อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล(IFS Rating)/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating)

– การปรับตัวลดลงของสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 280% และ การปรับตัวแย่ลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ ลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ แข็งแกร่ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

– การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำกว่า 6.5% และการลดลงของมูลค่ากำไรของธุรกิจใหม่ (value of new business) เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

– การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงในด้านเงินลงทุนและสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกของอัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อส่วนของผู้ถือหุ้น

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน): อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (IFS Rating)

– การปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับเงินกองทุนของ MTL ซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ให้อยู่ในระดับแข็งแกร่ง (‘Strong’) ได้อย่างต่อเนื่อง

และ – บริษัทมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ (business diversification) ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมหลากหลายประเภทธุรกิจมากขึ้น ด้านการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น และช่องทางการขายมีความหลากหลาย อัตราความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating)

– อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ MTL ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากอยู่ในอันดับเครดิตสูงที่สุดแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.พ. 67)

Tags: , , ,