นักวิชาการถามรัฐบาลจำเป็นไหมไทยเป็นฮับถึง 8 ด้าน ชี้โฟกัสบางจุดดึงเป็นยุทธศาสตร์ชาติหวั่นเข้าทางนายทุนใหญ่

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นต่อวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND และ ผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลาง 8 ด้านว่า IGNITE THAILAND เป็นสิ่งที่เป็นไปได้แต่อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีสำหรับบางอุตสาหกรรม แต่บางอุตสาหกรรมไทยมีความพร้อมมาก บางอุตสาหกรรมต้องมีการลงทุนในทักษะแรงงานอย่างจริงจัง ยกเครื่องระบบการศึกษา มีการลงทุนทางด้านการวิจัยแปรรูปสร้างมูลค่า ลงทุนและพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามเป้าหมาย ลำดับความสำคัญในการลงทุนตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและความสามารถในการแข่งขัน พร้อมมีแผนดำเนินการอย่างชัดเจน

ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายจากเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม นโยบายการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Target Industries) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ใน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีนและสิงคโปร์

คำถามสำคัญ คือ ทำไมประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างไร และทำไมประเทศเหล่านี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงมากกว่าไทย และไม่เป็นเพียงนโยบายสวยหรู เป็นเรื่องที่รัฐบาล เอกชน ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย ต้องไปแสวงหาคำตอบและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศแถวหน้าของเอเชียตะวันออก

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์กลางหรือฮับ 8 ด้านที่มีประกาศเป็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเศรษฐานั้น มีศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) เป็นด้านที่ประเทศมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) และ มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (Competitive Advantage) และมีปัจจัยพื้นฐานรองรับที่เข้มแข็งสามารถพัฒนาต่อยอดได้เร็วและไม่ยากลำบากเกินไป และน่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ความพร้อมอยู่ในอันดับค่อนข้างดีอยู่แล้วเพียงแต่ต้องพัฒนาต่อเนื่องตลอดจึงจะรักษาความเป็นอันดับต้นๆต่อไปได้อย่างยั่งยืน

รวมทั้งต้องทำให้ผลประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระจายตัวมายังรายเล็กรายน้อยมากขึ้น ส่วนความพยายามในการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) น่าจะมีความเป็นไปได้ในระดับปานกลาง จะบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้นหากมีการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทางด้านการแพทย์และสุขภาพให้เพียงพอ และ ลงทุนทางด้านวิจัยในผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพเอง หากแยกออกเป็นส่วนที่เป็นเฉพาะการให้บริการทางด้านสุขภาพและการแพทย์ (Wellness and Medical Service Hub) เฉพาะส่วนนี้ “ไทย” มีความพร้อมมาก

นายอนุสรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนอุตสาหกรรมโลจีติกส์ขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) มีข้อได้เปรียบโดยสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ แต่ยังต้องลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคอีกมาก การเป็นฮับหรือเป็นศูนย์กลางจึงเป็นจริง ไม่ใช่เป็นเพียงความฝันและธุรกิจไทยทางด้านโลจีติกส์ต้องเป็นผู้เล่นสำคัญในระดับภูมิภาคด้วย ไม่เช่นนั้น สิ่งที่ประเทศไทยพัฒนาระบบโลจีติกส์และความเชื่อมโยงทางด้านการขนส่งจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทโลจีติกส์ข้ามชาติยักษ์ใหญ่มากกว่ากิจการของไทย จะเกิดมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทยและคนไทยไม่มากบางอุตสาหกรรม

เช่น ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ไม่ได้มีพื้นฐานที่เข้มแข็งนัก ขาดทั้งทักษะในระดับผู้ประกอบการและแรงงาน ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนอย่างเพียงพอ อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต้องอาศัยการลงทุนอย่างยาวนานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงจะสามารถขึ้นมาอยู่ในระดับที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางหรือฮับในอนุภูมิภาคได้

ส่วนการประกาศเป็น ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) เป็น Wall Street ของอาเซียนนั้น ต้องตั้งประเด็นว่า สถาบันการเงินและสถาบันการลงทุนจะย้ายฐานออกจาก “สิงคโปร์” ที่เป็นศูนย์กลางการเงินของโลกอยู่แล้ว มายัง “ไทย” ด้วยปัจจัย ด้วยเหตุผลอะไร เพราะอาเซียนไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางทางการเงินสองแห่ง หากลดระดับลงมาเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคอาเซียนอาจเป็นไปได้ด้วยการเสริมบทบาท “เงินบาท”ในอินโดจีนและเมียนมา

ส่วนการพัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน (Carbon Credit Trading) เป็นเรื่องดี การเชิญชวนให้บริษัทไฮเทคทางด้านดิจิทัลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing เป็นเรื่องที่ดี สำคัญคือทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงกับ บริษัท Start Up ไทยที่มีอยู่ไม่มากและทำอย่างไรทำให้เกิด บริษัท Unicorn ขึ้นมาให้ได้ การทำให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความมุ่งมั่น ต่อเนื่อง ทำงานหนัก ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจนนโยบายบิดเบี้ยว

“สิ่งที่ต้องขบคิดต่อในเชิงยุทธศาสตร์นโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็คือ เราจำเป็นแค่ไหนในการเป็นศูนย์กลางหรือฮับมากมายภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรและงบประมาณที่มีอยู่ในประเทศ เราอาจต้องใช้ประโยชน์จากระบบโลกาภิวัตน์การผลิต การค้าและการเชื่อมโยงและบูรณาการมากขึ้นอย่างที่บรรษัทข้ามชาติของไทยทำหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดการเป็นศูนย์กลางอันหลากหลายเกินไปจนไม่มีโฟกัสหรือจุดเน้นในแง่ยุทธศาสตร์ของประเทศ”

การประกาศการเป็นศูนย์กลาง 8 ด้านถือเป็นนโยบายที่มีส่วนคล้ายกับนโยบาย Industrial Champions ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญบริษัทขนาดใหญ่ที่โดดเด่นในภาคอุตสาหกรรมบางแขนงจะถูกเลือกและกำหนดเป้าหมายไม่เพียงแต่แสวงกำไรของกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นๆแต่ต้องตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ โดยกิจการเหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์มากมายจากภาครัฐเป็นการตอบแทน

ความสำเร็จของนโยบายเหล่านี้ คือ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ สามารถสร้างบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในระดับโลกและระดับภูมิภาคขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การเอื้อประโยชน์ระหว่างผู้กำหนดนโยบายและยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจ ในเกาหลีใต้กลุ่มแชร์โบลจึงสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศและมีอิทธิพลทางการเมืองสูงเช่นเดียวกับกลุ่มเคดันเรนในญี่ปุ่น กรณีของญี่ปุ่น การประสบความสำเร็จในการสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและการขยายใหญ่ก้าวหน้าของบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกเกิดขึ้นจากสามเหลี่ยมเหล็กภายใต้ระบบอุปถัมภ์ระหว่างรัฐกับทุน

กลุ่มสหพันธ์องค์กรเศรษฐกิจ หรือ กลุ่มเคดันเรน (Federation of Economic Organization or Keidanren) ได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนต่างๆอย่างมากจากรัฐ รวมทั้งได้สัมปทานขนาดใหญ่จากรัฐ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party) ที่เป็นรัฐบาลผูกขาดยาวนานก็ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากกลุ่มเคดันเรน

การสร้างความยิ่งใหญ่และการเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในหลายสาขาจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามทศวรรษ 1970-1990 แล้วโมเดลการพัฒนาแบบนี้ก็เกิดปัญหาหลังฟองสบู่ทางเศรษฐกิจแตก ขณะที่เกาหลีใต้ที่ไล่กวดยึดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบญี่ปุ่น สร้างความก้าวหน้าและเติบโตทัดเทียมญี่ปุ่น แต่ก็มีปัญหาการคอร์รัปชันในระบบการเมืองอันเกิดจากการเอื้อประโยชน์ระหว่างรัฐกับทุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกับญี่ปุ่น

กรณีของจีนการใช้โมเดลการพัฒนาที่แตกต่างจากญี่ปุ่นแต่มีแนวทางบางอย่างร่วมกัน อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เอกชนแล้วจึงค่อยๆเปิดกว้างใช้ระบบเสรีกลไกตลาดเพิ่มขึ้น ใช้การวางแผนระยะยาวด้วยกลไกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและมีสถาบันดูแลการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบรัฐบาลจีน เช่นเดียวกับสิงคโปร์มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรภาครัฐได้อย่างมีคุณภาพและประสบความสำเร็จในการสร้างระบบราชการที่มีสำนึกสาธารณะอย่างเข้มแข็งทั้งสองประเทศไม่ไว้วางใจภาคประชาสังคมมากนัก ยุทธศาสตร์ถูกกำหนดแบบรวมศูนย์และค่อนข้างมีลักษณะสั่งการจากข้างบน หรือ Top Down

อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาไปถึงระดับหนึ่ง การเปิดเสรีเน้นกลไกตลาดถึงระดับหนึ่ง โมเดลการพัฒนาแบบจีนหรือสิงคโปร์ก็ไม่สามารถแช่แข็งการมีส่วนร่วมของตลาดและประชาชนต่อไปได้ ต้องเปิดกว้างมากขึ้นในที่สุด ขณะที่ ไต้หวัน จะให้น้ำหนักไปที่ SMES, Start Up ทั้งหลายมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการกระจายตัวของผลประโยชน์มากกว่า

โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบอำนาจนิยมที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงในเอเชียตะวันออก อาจไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันการมองว่าความเหลื่อมล้ำและการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องใหญ่ในโมเดลการพัฒนาแบบนี้กำลังมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โจทย์สำคัญมากกว่าการพยายามเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆของประเทศ คือ ผลประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลาง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนต่างๆ ตกกระจายมาถึงประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ และทุกคนในประเทศนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนอย่างไร

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ประเทศที่มีระดับการพัฒนาตามหลังประเทศแถวหน้าของโลกอย่างไทย ต้องสร้างความได้เปรียบจาก “การพัฒนาทีหลัง” จาก ความสามารถทางสังคมและทุนมนุษย์ในการดูดซับ ถ่ายโอน เทคโนโลยีใหม่ๆ และการออกแบบระบบสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่ดึงดูดการลงทุนให้บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น

การไม่ได้ให้ความสำคัญในการสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเพียงพอทำให้ “ทุนมนุษย์ทั้งในระดับแรงงานและระดับประกอบการ” ไม่สามารถเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยทำให้ “ประเทศ” ก้าวข้ามพ้นกับดักการพัฒนาเมื่อสองสามทศวรรษที่ผ่านมาไปได้

นอกจากนี้ไทยยังมีอัตราส่วนทุนต่อผลิตผลเพิ่ม (ผลิตภาพ) ที่สูงมาก คือ ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อเพิ่มผลผลิตเพียงเล็กน้อย สะท้อนประสิทธิภาพการลงทุนโดยเฉพาะอยู่ในระดับต่ำนั่นเอง

ปัญหาเชิงโครงสร้างยังไม่ได้รับการแก้ไขแม้นเวลาจะล่วงเลยมาร่วมสามทศวรรษหากย้อนกลับไปพิจารณา บทความเรื่อง “The Myth of Asia’s Miracle” ของ ศาสตราจารย์ ดร. พอล ครุกแมน (Paul Krugman) ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Foreign Affairs เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) บทความนี้ออกเผยแพร่ 2 ปีกว่าก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี 2540 บทความชี้แนะว่า การเติบโตของไทยและเอเชียบางประเทศก่อนวิกฤติใหญ่ เกิดจากการพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและการเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพของทุนและแรงงานแต่อย่างใดจึงเป็นการเติบโตจากเปลือกนอก

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศแม้จะดูรุ่งโรจน์ในช่วงแรกเพียงใดก็ตาม ไม่ช้าก็เร็วจะต้องประสบกับข้อจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งนี้เห็นได้จากการนำ “ไทย” ไปเทียบกับ “จีน” และ “เกาหลีใต้” หรือแม้นกระทั่ง “มาเลเซีย” และ “เวียดนาม” ในอนาคต

*เตือนระวังฟองสบู่ 7 ยักษ์ใหญ่สหรัฐแตก

นายอนุสรณ์ กล่าวถึง การกระจุกตัวของกำไรและความเข้มข้นของมูลค่าบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ว่าขนาดมูลค่าตลาดและกำไรกระจุกตัวของ 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคสหรัฐอันประกอบไปด้วย Apple, Amazon,Alphabet, Meta, Microsoft, Nvidia and Tesla อาจสร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อตลาดหุ้นโลกและเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตได้ มูลค่าตลาดของ 7 บริษัทมีขนาดใหญ่กว่ามูลค่าตลาดของทั้งตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่อันดันสองของโลก มูลค่าตลาดหรือราคาหุ้นของ 7 บริษัทจึงมีมูลค่าใหญ่กว่ามูลค่าของตลาดหุ้นของทุกประเทศยกเว้นตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

สิ่งนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำรุนแรงในโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจดิจิทัลที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคไม่กี่แห่ง ภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องที่นักลงทุนพึงตระหนักถึงความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงให้ดี

“หากฟองสบู่ราคาหุ้นของ 7 บริษัทแตกขึ้นมาในวันใดจะมีผลกระทบต่อตลาดการลงทุนตลาดการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของโลกมาก ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ควรศึกษาทำความเข้าใจและกำหนดนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว”

การซื้อและใช้บริการเทคโนโลยีของคนอื่นตลอดเวลาโดยไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้ โดยเฉพาะในธุรกิจแพลตฟอร์มย่อมทำให้ตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจตลอดเวลา และ เกิดสภาวะ “ทำมากทำอย่างหนัก ได้น้อย และไม่สามารถหลุดพ้นจากการเป็นหนี้หรือความยากจนได้” ไม่ใช่ภาวะ “ทำน้อยผลิตภาพสูง และได้มากเพราะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มเอง” หากประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลหรือเทคโนโลยีแบบไล่กวดได้เช่น จีน ไต้หวันและญี่ปุ่นเราควรศึกษาวิธีการทางนโยบายภาษีของอียูในการทำให้เกิดการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมจากบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคสหรัฐโดยไม่ละเมิดกฎเกณฑ์องค์การการค้าโลกหรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ไทยได้ทำไว้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 67)

Tags: , ,