เช้าวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษ และกลับสู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” อีกครั้ง หลังออกจากบ้านนี้ไปไม่น้อยกว่า 17 ปี เชื่อว่าหลังจากนี้ถนนการเมืองทุกสาย คงมุ่งหน้าสู่บ้านจันทร์ส่องเหล้า จนเกิดวิวาทะการเมืองตามมากับการที่ประเทศไทย มี “นายกฯ 2 คน”
นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า การรับบทบาท “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร “อุ๊งอิ๊ง” ในวันที่ต้องกอบกู้พรรค หลังพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา จำเป็นต้องมีกุนซือประจำตัว ซึ่งคงหนีไม่พ้นหัวหน้าพรรคตัวจริง อย่างนายทักษิณ ที่ต้องกลายมาเป็นเมนเทอร์ คอยชี้แนะรับเผือกร้อน กู้วิกฤติ “พรรคเพื่อไทย” ให้กลับมาทวงบัลลังก์พรรคอันดับ 1 ให้ได้
สิ่งที่ประชาชนให้การยอมรับในตัวนายทักษิณ ที่ยังพูดถึงเสมอ คือ การกู้วิกฤติเศรษฐกิจ และต้นแบบของนโยบาย “ประชานิยม” ที่ยังพูดกันปากต่อปากจนถึงทุกวันนี้ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และจากมันสมองในการแก้เศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า นโยบายสำคัญของรัฐบาลในขณะนี้ เช่น “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” และ “โครงการแลนด์บริดจ์” นายทักษิณ จะนำประสบการณ์มาช่วยหาทางออกให้กับเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง
ด้านนักวิชาการอย่าง นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า ในขณะนี้ ประเทศไทยเปรียบเสมือนมี “นายกฯ 2 คนครึ่ง” เพราะมองว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีอำนาจเด็ดขาด ต้องคอยฟังจากนายทักษิณ และ น.ส.แพทองธาร แต่เชื่อว่าการที่นายเศรษฐา ถูกวางตัวเป็นนายกรัฐมนตรี แซงหน้า น.ส.แพทองธาร ถือเป็นความสบายใจของอีกฝั่งที่ยอมรับในตัวของนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี
นายสติธร ยังเชื่อว่า ภายในปี 67 นายกรัฐมนตรียังคงชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” แต่หลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกที เพราะสถานการณ์เปลี่ยนกันได้
“วันนี้ ไม่ใช่ว่าคุณทักษิณ จะวางหมากอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่จะจับคุณเศรษฐา เข้า-ออกได้ตามใจ ถ้าอีกฝั่งบอกว่า ยังไม่ใช่เวลาของลูกสาวคุณ ยังพอใจกับคนชื่อเศรษฐาอยู่ มันก็ยังต้องเป็นนายเศรษฐา” นายสติธร กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ยังคงไม่ได้เห็นภาพนายทักษิณ ประกาศวางมือทางการเมือง เพราะวันนี้เห็นท่าทีในความพยายามที่จะสืบทอดมรดกทางการเมืองไปสู่บุตรสาวคนเล็ก อย่างน้อยที่สุด ต้องรอให้ถึงเลือกตั้งปี 70 และหาก “อุ๊งอิ๊ง” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องอยู่ในตำแหน่งอย่างน้อยจนถึงปี 74
“ไม่ได้เร็วแน่ ซึ่งจากปีนี้ 67 จนถึงปี 74 อย่างน้อยอีก 7 ปี คุณทักษิณ 80 กว่า ยังคิดไม่ได้ที่จะต้องวางมือ มันเร็วเกินไปมาก” นายสติธร กล่าว
ขณะที่เสถียรภาพทางการเมือง นายสติธร เชื่อว่า การกลับ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ของนายทักษิณ ไม่สามารถคอนโทรลรัฐบาลได้ทั้งหมด เพราะภาพใหญ่ยังเป็น 2 ขั้ว 3 ข้าง ซึ่ง 3 ข้างประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคก้าวไกล
พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ จะคิดอย่างไรกับการที่นายทักษิณ ออกมาบัญชาการที่บ้านพัก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเองก็กลัวว่าจะมาก้าวก่าย จึงเกิดคำถามว่า จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ จะแทรกแซงการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะพอใจกับการทำงานในแบบที่เคยอยู่ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะสมัยนั้นการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีมีความชัดเจน ไม่เคยไปก้าวก่ายกับเก้าอี้ในส่วนของพรรคร่วม
หากย้อนกลับไปตอนที่นายทักษิณ เป็นรัฐบาลที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่มักปรับครม.ทุกๆ 6 เดือน และพรรคร่วมรัฐบาลคงอยากให้นายทักษิณ ไม่มายุ่งกับโควต้ารัฐบาลของพรรคร่วม แต่หากพรรคเพื่อไทยต้องการขอแลกเก้าอี้ ก็ต้องแลกแบบมีศักดิ์ศรี คือ ต้องได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเกรดที่ดีกว่ามาแลก
ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นพรรคที่ต่อต้านนายทักษิณ มาโดยตลอด หากประชาธิปัตย์จะแสดงจุดยืนสนับสนุนนายทักษิณ ก็อาจเสียมวลชน
ส่วนพรรคก้าวไกลนั้น มองว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะเหนื่อยแน่นอน ตอนนี้นายทักษิณ ต้องประคองตัวให้ได้สส. เท่ากับเลือกตั้งที่ผ่านมา 141 เสียง แต่คะแนนที่จะได้ง่ายที่สุด คือ ต้องไปดึงจากพรรคร่วม คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ หรือกลุ่มบ้านใหญ่ทั้งหลาย เพราะหากดึงหัวคะแนนบ้านใหญ่ได้ คะแนนเหล่านั้นก็จะกลับมาที่พรรคเพื่อไทย เพื่อแซงกลับมาเป็นพรรคอันดับ 1 ให้ได้ เพื่อจะได้ตั้งรัฐบาลได้อย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นโจทย์ยากของนายทักษิณ
สำหรับด้านเศรษฐกิจ ที่ประชาชนบางส่วนยังเชื่อฝีมือของนายทักษิณนั้น จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้หรือไม่ นายสติธร มองว่า ตัวเลข GDP ในวันนี้ อาจเข้าทางสไตล์การทำงานของพรรคเพื่อไทย ที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปที่ประชาชน หรือใช้โครงการขนาดใหญ่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้งบประมาณหลายล้านล้านบาท หรือใช้ยาแรงนั้นเอง แต่การใช้นโยบายเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพได้จริง ต้องเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตโควิด-19 และนโยบายที่พรรคเพื่อไทยพยายามขับเคลื่อนออกมา ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องประสิทธิผลนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าประเทศประสบปัญหาวิกฤตจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพราะวิกฤตบางประเภทก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรง เช่น เงินขาดสภาพคล่อง เป็นต้น
หลังจากนี้ ทุกกิจกรรม ทุกย่างก้าวของนายทักษิณ ย่อมถูกจับตาจากคอการเมือง และเป็นที่สนใจของคนทั่วไป หลังห่างหายไปนาน 9 ปี ว่านายทักษิณ จะวางตัวเองแบบใด ซึ่งครั้งหนึ่งนายทักษิณเคยพูดถึง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” แต่คำพูดเดียวกันนี้ กำลังจะย้อนกลับมาที่ตัวเอง เพราะนายทักษิณ กำลังจะกลายเป็น “ผู้มีบารมีนอกรัฐบาล” ตัวจริงเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 67)
Tags: PoliticalView, SCOOP, การเมือง, ทักษิณ ชินวัตร