นักวิจัยจุฬาฯ เปิดตัวนวัตกรรมจากเศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้ง สู่วัตถุดิบอาหารพันล้าน

นักวิจัยจุฬาฯ และบริษัทอุตสาหกรรมอาหาร อย่าง อำพลฟู้ดส์ ได้ร่วมกันพัฒนา Cello-gum (เซลโลกัม) นวัตกรรมจากเศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้ง สู่วัตถุดิบอาหารพันล้าน ผลงานของ ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ นักวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ

Cello-gum เป็นนวัตกรรมจากเศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้ง โดยแปรเศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้งนับเป็นตัน ๆ ต่อวัน ให้กลายเป็นสารเติมแต่ง ประสิทธิภาพสูง ที่นำกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ลดการนำเข้าสารเติมแต่งที่ประเทศไทยต้องจ่ายได้ปีละกว่าหมื่นล้านบาท

ทีมนักวิจัยมั่นใจว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเป็นโมเดลให้กับการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่จะเพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เพื่อสังคม Zero Waste ที่จะไม่มีอะไรเหลือทิ้งให้ถูกกำจัดด้วยการเผาอีกต่อไป

ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) และอาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไบโอเน็กซ์ จำกัด (BioNext) สตาร์ทอัพภายใต้ชายคา CU Enterprise พร้อมทีมวิจัย ได้แก่ รศ.ดร.ศรุต อำมาตย์โยธิน คุณวรุณ วารัญญานนท์ คุณปิยะวัฒน์ สาธิตวงศ์กุล และ ดร.พงษ์พัฒน์ ศุขวัฒนะกุล คือเจ้าของไอเดียที่นำไปสู่นวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้โจทย์ปัญหาเรื่องขยะอาหารโดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของเสียจากกระบวนการผลิตอาหารอีกด้วย

“สารเติมแต่งที่ทำขึ้นมานี้มีความบริสุทธิ์สูง ปลอดภัย และมีตลาดรองรับ เซลโลกัมจึงเป็นตัวอย่างนวัตกรรมซึ่งมีศักยภาพมากในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม”

นอกจากวุ้นมะพร้าวแล้ว ศ.ดร.หทัยกานต์ กล่าวว่าเศษวัสดุทางการเกษตรอื่น ๆ ก็นำมาใช้ทำเซลโลกัมได้เช่นกัน แม้จะให้เซลลูโลสในปริมาณที่น้อยกว่า “วุ้นมะพร้าวให้เซลลูโลสมากกว่าเมื่อเทียบกับเซลลูโลสที่สกัดจากไม้หรือพืชอื่น ๆ เช่น ชานอ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งจะได้เซลลูโลสแค่ประมาณ 30% เท่านั้น แต่เราก็สามารถเอาชานอ้อย ข้าวโพด สับปะรด มาเข้ากระบวนการผลิตเป็นเซลโลกัมได้เหมือนกัน เพียงแต่อาจจะต้องมีการพลิกแพลงหรือเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย”

ปัจจุบัน เซลโลกัม อยู่ในช่วงของการหาผู้ร่วมทุน และความช่วยเหลือในด้านวิศวกรรม ทั้งเรื่องของการออกแบบเครื่องจักรและโรงงานเพื่อพัฒนากำลังการผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรมเต็มตัวในอนาคต พร้อม ๆ กับการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากเซลโลกัมแล้ว ทีมวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.หทัยกานต์ ยังมีแผนที่จะพัฒนาแบคทีเรียเซลลูโลสเพื่อใช้เป็น binder ในอุตสาหกรรมการตอกยาเม็ด สารเติมแต่งในอาหารเสริม และ hydrogel ในเครื่องสำอาง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 67)

Tags: , , , ,