ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ฟื้นตัวช้าอย่างน่าผิดหวัง เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเพียง 1.9% เติบโตชะลอลงจาก 2.5% ในปี 2565 สะท้อนการฟื้นตัวกลับไปใกล้ระดับก่อนโควิด-19 ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ แม้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่ายปรับสูงกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้ว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชน แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2566 ยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤติโควิด-19 ประมาณ -0.4% เทียบกับ -0.8% และ -1.2% ในไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งล่าช้ากว่าที่ SCB EIC เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐที่แผ่วลงตามเม็ดเงินแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิดที่หมดลงและการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ขณะที่การส่งออกภาคบริการ (ซึ่งส่วนมากเป็นภาคการท่องเที่ยว) ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดราว -31.5%
SCB EIC มองภาพรวมในปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังน่าห่วงและฟื้นตัวได้ช้า โดยปัจจัยสำคัญกดดันให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปีนี้ มาจากการลงทุนของภาครัฐที่มีแนวโน้มหดตัวตามความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ส่งผลให้แรงสนับสนุนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจำกัดในช่วงครึ่งแรกของปี แม้จะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้มากขึ้นหลัง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ประกาศใช้ในช่วงกลางเดือนเมษายน แต่จะไม่สามารถเร่งรัดเบิกจ่ายได้เต็มที่ภายใต้ช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณนี้ อีกทั้ง ภาครัฐยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้นจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงหลังวิกฤติโควิด นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะการผลิตอุตสาหกรรม หลายสาขายังหดตัวต่อเนื่องและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน
มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่
(1) เศรษฐกิจจีนชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะกระทบการส่งออกของไทยและการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทย
(2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจรุนแรงขึ้นจากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีในทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังยุโรป อาจส่งผลให้ระยะเวลาและต้นทุนค่าขนส่งทางเรือจากไทยไปยังยุโรปสูงขึ้นมาก
(3) รายได้ครัวเรือนฟื้นช้า ไม่ทั่วถึง และมีภาระหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่มาก
(4) ภาคการผลิตอุตสาหกรรมหลายสาขาฟื้นตัวช้า จากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นและการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ
(5) วิกฤตภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเกษตรปรับลดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 67)
Tags: SCB EIC, เศรษฐกิจไทย