สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 เหลือโต 2.2-3.2% จากเดิมคาดโตราว 2.7-3.7% หลังภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 ตามการลดลงต่อเนื่องของภาคการส่งออก รวมทั้งการลดลงของการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ
ส่วนตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 1.7% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลลดลงเป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมลดลง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ในช่วงถัดไป คือ มาตรการด้านการเงิน น่าจะต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลดภาระภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ในส่วนของมาตรการดอกเบี้ย ที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง และทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลงโดยเฉพาะในส่วนของภาคครัวเรือน และผู้ประกอบการ SME รวมถึงการใช้มาตรการผ่อนคลายในกรณีชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันใช้อยู่ที่อัตรา 8% ของยอดชำระรวม โดยอาจพิจารณากลับไปใช้ที่ขั้นต่ำ 5% อีกสักระยะ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อย มีกำลังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
โดยเห็นว่าถ้าดำเนินการได้เร็ว ก็จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้พอสมควร อย่างไรก็ดี ก็คงต้องขึ้นกับการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 67)
Tags: การลงทุน, ภาครัฐ, รัฐบาล, สภาพัฒน์, สศช., เศรษฐกิจไทย