นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือว่า กทพ.มีแผนก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) หรือ ตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 16,960 ล้านบาท ซึ่งได้ปรับแผนงานและเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกแล้ว
แต่บอร์ดกทพ.ยังไม่อนุมัติ โดยให้กลับไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น สภาพความแข็งแรงของโครงสร้างเสาตอม่อตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่ง กทพ.จะเร่งทบทวนการศึกษา เพื่อเสนอให้บอร์ด กทพ.พิจารณาอีกครั้งในเดือน มี.ค.67
โครงการดังกล่าวมีการสร้างเสาตอม่อจำนวน 281 ต้นบนถนนเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 25 ปีแล้ว จากการตรวจสอบส่วนของฐานรากล่าสุดยังใช้ได้ โดยจะรื้อเสาออกและก่อสร้างเป็นเสาทางด่วนใหม่ และจะใช้เงินกู้ในการก่อสร้าง เนื่องจากเดิมทีโครงการใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) วงเงิน 14,374 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน กทพ.ได้ปรับแผนโยกเงิน TFF ไปใช้ในทางด่วน ฉลองรัช “ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา” ซึ่งขณะนี้เตรียมจะขายเอกสารประกวดราคาแล้ว
“กทพ.จะปรับแผนดำเนินงานทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ โดยเร่งรัดเส้นทางฝั่งที่อยู่ในแนวถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ขณะนี้เร่งจ้างที่ปรึกษาเพื่ออัพเดทข้อมูลเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างเสาตอม่อ และข้อมูลต่างๆ ปริมาณจราจร และค่าก่อสร้างในปัจจุบันและสรุปได้ใน 2 เดือนเพื่อเร่งนำเสนอบอร์ด กทพ.พิจารณา” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
สำหรับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ โครงการระยะที่ 2 ส่วนทดแทนตอน N1 (ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยช่วงที่ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีแนวทางก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อลดผลกระทบ ซึ่งต้องรอสรุปการศึกษาและรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.พ. 67)
Tags: กทพ., การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, ทางด่วน, สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข