In Focus: หอมกลิ่นเครื่องเทศ – เศรษฐกิจอินเดียผงาด รับอานิสงส์นักลงทุนกระจายความเสี่ยง-เลี่ยงจีน

ในขณะที่เศรษฐกิจจีนเผชิญกับแนวโน้มขาลงจากปัญหามากมายที่รุมเร้า เศรษฐกิจอินเดียกลับเติบโตอย่างรวดเร็วจน MSCI ซึ่งเป็นผู้จัดทำดัชนีตลาดหุ้นระดับโลก ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นอินเดียในดัชนี MSCI Global Standard Index (ตลาดหุ้นเกิดใหม่) เป็น 18.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กลายมาเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีนเมื่อวานนี้ (13 ก.พ.)

In Focus สัปดาห์นี้ จะขอพาผู้อ่านไปติดตามความเนื้อหอมของอินเดียในวันนี้

*มาแรงแซงทางโค้ง

หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจจีนก็เข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินท่วมท้น ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์กับไต้หวัน และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับสหรัฐ ทำให้บริษัทน้อยใหญ่ต่าง ๆ หันมาใช้กลยุทธ์ “จีนบวกหนึ่ง” (China-plus-one) เพื่อสร้างความหลากหลายด้านห่วงโซ่อุปทานและกระจายความเสี่ยงจากจีน โดยการมองหาฐานการผลิตในประเทศอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากกลยุทธ์ดังกล่าวก็คือ อินเดีย นั่นเอง

นายมิโซ ดาส นักยุทธศาสตร์ด้านตราสารทุนเอเชียของเจพีมอร์แกนกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า อินเดียคือตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในเอเชีย และเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับความนิยมในระดับโลก เนื่องจาก “อินเดียมีขนาดที่ใหญ่และมีพื้นที่มากเพียงพอที่จะทดแทน หรือเพิ่มกำลังการผลิตในแบบที่นักลงทุนและผู้ผลิตทั่วโลกต้องการ”

*บริษัทต่างชาติแห่ลงทุน

แอปเปิ้ลเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ประเดิมการขยายธุรกิจในอินเดียด้วยการเปิด Apple Store แห่งแรกในอินเดียเมื่อเดือนเม.ย. 2566 และเริ่มต้นผลิตสมาร์ตโฟน iPhone 15 ในอินเดียตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ หันมามองอินเดียในฐานะจุดหมายปลายทางที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงานด้านการผลิตมากขึ้น

ด้านฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอปเปิ้ลและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ระดับโลกจากไต้หวันก็มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนและการจ้างงานในอินเดียเป็นสองเท่าตัวด้วยเช่นเดียวกัน โดยนายวี ลี ตัวแทนของฟ็อกซ์คอนน์ในอินเดียกล่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 ว่า “เราจะทำงานให้หนักยิ่งขึ้นเพื่อมอบของขวัญวันเกิดที่ดียิ่งขึ้นให้คุณในปีหน้า โดยเราตั้งเป้าที่จะเพิ่มการจ้างงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) และขนาดธุรกิจเป็นสองเท่าตัวในอินเดีย” ก่อนจะประกาศแผนการลงทุนมูลค่ามากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอินเดียอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566

ขณะเดียวกัน ฮุนได มอเตอร์ (Hyundai Motor) ได้ประกาศการลงนามเข้าซื้อโรงงานของเจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) หรือจีเอ็ม (GM) ในอินเดียเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อตอบสนองอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้าในอินเดียที่กำลังเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยักษ์ใหญ่อย่างเทสลาเองก็ยังแสดงความสนใจที่เข้ามาดำเนินธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในอินเดียในปี 2567 โดยมีแผนเพิ่มการนำเข้าส่วนประกอบจากอินเดีย และกำลังพิจารณาจะลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าเทสลาในรัฐคุชราต รัฐมหาราษฏระและรัฐทมิฬนาดูภายในเวลา 2 ปีด้วยถึงแม้ว่า ดีลดังกล่าวจะยังไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม โดยนายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทสลาระบุในเดือนมิ.ย. 2566 ว่า เทสลาวางแผนจะทุ่มเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่ในอินเดียและวางแผนเดินทางเยือนอินเดียในปี 2567 นี้

ทั้งนี้ บริษัทอื่น ๆ เช่น กูเกิล, ทีดีเค คอร์, ซูซูกิ หรือแม้กระทั่ง วินฟาสต์จากเวียดนาม เพื่อนบ้านของเรา ต่างก็มีแผนจะทุ่มเม็ดเงินลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตหรือตั้งโรงงานในอินเดียด้วยเช่นเดียวกัน

*วิเคราะห์ความน่าดึงดูดใจ

เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้อินเดียได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ แล้ว คงหนีไม่พ้นปัจจัยด้านจำนวนประชากร เสถียรภาพทางการเมือง และอุปสงค์ภายในประเทศที่มีความแข็งแกร่ง

ปัจจุบัน อินเดียมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีนและก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกแล้ว โดยมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-64 ปี สูงถึง 51% ซึ่งแม้ว่า ออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ระบุว่า สัดส่วนดังกล่าวยังคงน้อยกว่าจีน แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะดึงดูดความสนใจของบรรดาบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงด้วยกลยุทธ์ “จีนบวกหนึ่ง”

นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่มีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ดังนั้น อินเดียจึงมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ

ขณะเดียวกัน อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง อาทิ การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการปฏิรูปและมาตรการต่าง ๆ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล เป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับความน่าดึงดูด โดยนายอภิเษก มัลโหตรา ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทแมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานีกล่าวว่า ชาวอินเดียมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นในด้านการเดินทาง ซื้อเครื่องประดับ การรับประทานอาหารนอกบ้าน นอกจากนี้ ยอดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นในประเทศก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ อินเดียได้เบียดแซงฮ่องกงและผงาดขึ้นเป็นตลาดหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกได้เป็นครั้งแรก โดยมีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอินเดียรวมกันอยู่ที่ 4.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 22 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2570

จะเห็นได้ว่า อินเดียกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองสำหรับทั้งบริษัทและนักลงทุน และมีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนทั้งการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวันที่พร้อมจะสร้างความผันผวนในตลาด เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทิศทางการพัฒนาของเศรษฐกิจอินเดียจะเป็นอย่างไรต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 67)

Tags: , ,