ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น เหตุความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นในวันนี้ (13 ก.พ.) จากความวิตกกังวลว่าความตึงเครียดในตะวันออกกลางอาจทำให้ซัพพลายติดขัด แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และผลกระทบของความต้องการเชื้อเพลิง ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ปรับตัวขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.4% สู่ระดับ 82.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเวลา 14:25 น. ตามเวลาไทย ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวขึ้น 36 เซนต์ หรือ 0.5% สู่ระดับ 77.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันได้แรงหนุนโดยมีความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นแรงกระตุ้นให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดกลุ่มกบฏฮูตีของเยเมนยิงขีปนาวุธ 2 ลูกใส่เรือขนส่งสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับอิหร่านในทะเลแดงเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) หลังจากที่ได้โจมตีเรือพาณิชย์ของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ย. เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนปาเลสไตน์ในการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งหากสหรัฐออกมาเพิ่มความเข้มงวดหรือยกระดับการคว่ำบาตรต่ออิหร่านก็จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายในตลาดน้ำมัน

นอกจากนี้ แอมเบรย์ (Ambrey) ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยทางทะเลของอังกฤษเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า เรือบรรทุกสินค้าเทกองลำหนึ่งของกรีซซึ่งติดธงหมู่เกาะมาร์แชลล์ ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธถึง 2 ครั้งภายในเวลาเพียง 2 นาที ขณะแล่นผ่านช่องแคบบับอัลมันดับ (Bab al-Mandab) ทางตอนใต้สุดของทะเลแดง โดยมีรายงานว่าเรือได้รับความเสียหายบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในวงจำกัด โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยผลสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคประจำเดือนม.ค. ซึ่งระบุว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะเวลา 1 ปี และ 5 ปี ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2%

นักลงทุนวิตกว่า หากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อทำให้เฟดตัดสินใจชะลอเวลาการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตามองการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนม.ค. ในวันนี้ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดทิศทางการตัดสินใจด้านนโยบายทางการเงินและดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 3.4% ในเดือนธ.ค. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 3.9% ในเดือนธ.ค.

ตลาดยังรอคอยการเปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐในวันนี้ด้วย โดยนักวิเคราะห์จากโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐได้ปรับตัวขึ้นราว 2.6 ล้านบาร์เรลในรอบสัปดาห์ที่ 9 ก.พ.

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ยังเตรียมเปิดเผยรายงานภาวะตลาดน้ำมันในวันนี้เช่นเดียวกัน ขณะที่นักวิเคราะห์แนะนำให้ดูท่าทีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้างในกรณีปรับลดการผลิตโดยสมัครใจ ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. และมีแนวโน้มสูงว่าตลาดจะเกินดุลในไตรมาส 2/2567 หากโอเปกพลัสปรับลดการผลิตบางส่วนไม่ได้

ทั้งนี้ โอเปกพลัสจะตัดสินใจในเดือนมี.ค.ว่า จะขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจในไตรมาส 1/2567 ออกไปหรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 67)

Tags: , ,