OECD เพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เป็น 2.9% จาก 2.7% อานิสงส์เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งช่วยชดเชยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในยูโรโซน

OECD ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งล่าสุดซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มลดลงสู่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.1% ในปี 2566 แต่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่า 2.7% ที่ OECD ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนพ.ย. 2566

ขณะเดียวกัน OECD ได้คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ไว้ที่ระดับ 3.0% โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปีดังกล่าวจะได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางรายใหญ่หลายแห่งพากันปรับลดอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มอ่อนแรงลง

OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.1% ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.5% และคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2568 จะขยายตัว 1.7% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์เดิม เนื่องจากการปรับตัวลงของเงินเฟ้อหนุนการขยายตัวของค่าจ้าง และจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ส่วนประเทศจีนนั้น OECD ระบุว่า การที่จีนยังคงเผชิญกับวิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และภาวะขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับ 4.7% ในปี 2567 จากระดับ 5.2% ในปี 2566 โดยตัวเลขดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ในเดือนพ.ย.

OECD ยังระบุด้วยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนเป็นวงกว้าง โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2567 จะอยู่ที่ระดับเพียง 0.6% จากระดับ 0.5% ในปี 2566 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวลดลงจากระดับ 0.9% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ OECD ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2568 ลงสู่ระดับ 1.3% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.5%

ทั้งนี้ ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่มีความแตกต่างกัน แต่ OECD มองว่าเงินเฟ้อในสหรัฐและยูโรโซนชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนพ.ย. ซึ่งอาจจะปูทางให้เฟดเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ของปีนี้ และอาจจะทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามในไตรมาส 3

อย่างไรก็ดี OECD กล่าวว่า การที่กลุ่มติดอาวุธโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดงจะส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าหากต้นทุนการขนส่งทางเรือยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อรายปีที่เกิดจากการนำเข้าสินค้าของประเทศในกลุ่ม OECD เพิ่มขึ้นเกือบ 5 จุดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอีก 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์หลังจากนั้นเป็นเวลา 1 ปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 67)

Tags: , , ,