นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงิน บาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.76 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปิดวันก่อนที่ 35.79 บาท/ดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังได้แรง หนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจไม่ รีบลดดอกเบี้ย และอาจจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้
“วันนี้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาจไม่ใช่จุดสนใจของผู้เล่นในตลาด ทำให้ควรระวังความผันผวนของค่าเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน” นายพูน ระบุ
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้ เร็วขึ้น จากที่ตลาดเคยประเมินไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของไทยล่าสุด ชะลอลงต่อเนื่อง
นายพูน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.90 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
– เงินเยน อยู่ที่ระดับ 148.54 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 148.49 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0743 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.0760 ดอลลาร์/ยูโร
– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 35.701 บาท/ดอลลาร์
– คลังจับตา กนง.ประชุม 7 ก.พ.นี้ ชี้เคาะดอกเบี้ยต้องเชื่อมโยงประชาชน หลังเงินเฟ้อติดลบ 1.11% ต่ำสุดรอบเกือบ 3 ปี เพราะคนขาดกำลังซื้อ-หาเงินใช้หนี้
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้ จะอยู่ที่ราว 0.8% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ที่ 1-3% จึงมีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังปีนี้
– “สมาคมโรงแรม-แอตต้า” ชมมาตรการยกเว้นวีซ่าของรัฐบาลช่วยท่องเที่ยวฟื้นได้ในปีนี้ ไม่ต้องรอถึงปีหน้า คาดอัตราการ เข้าพักโรงแรมอยู่ที่ 70% เฉพาะช่วงตรุษจีนขึ้นมา 80% ขณะที่การเที่ยวผ่านกรุ๊ปทัวร์และธุรกิจ MICE ก็กลับมาแล้ว
– ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 Minutes” ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อวันอาทิตย์ที่ ผ่านมาว่า เฟดจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ตลาด คาดการณ์ไว้
– ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (5 ก.พ.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ยาวนานกว่าที่คาดไว้
– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (5 ก.พ.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตรา ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยฉุดตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาด
– อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.1% หลังสหรัฐเปิดเผย ดัชนีภาคบริการที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้
– นักลงทุนพากันปรับลดน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค. ขณะ ที่เพิ่มน้ำหนักให้กับการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัย หนุนให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 59.9% เมื่อวานนี้
– องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งล่าสุดซึ่งมีการเผย แพร่เมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มลดลงสู่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.1% ในปี 2566 แต่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่า 2.7% ที่ OECD ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนพ.ย. 2566 ขณะเดียวกัน OECD ได้คงตัวเลขคาดการณ์การ ขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ไว้ที่ระดับ 3.0% โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปีดังกล่าวจะได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางรายใหญ่ หลายแห่งพากันปรับลดอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มอ่อนแรงลง
– ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เปิดเผยในวันนี้ ญี่ปุ่นเปิดเผยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนธ.ค., ออสเตรเลียเปิดเผยยอดค้าปลีก เดือนธ.ค. (ประมาณการครั้งสุดท้าย) และธนาคารกลางออสเตรเลียประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย และอียูเปิดเผย ยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 67)
Tags: ตลาดหุ้น, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท