ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าไร้ทิศทาง ฮั่งเส็งพุ่งรับภาคการผลิตจีนขยายตัว

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าไร้ทิศทางในวันนี้ (1 ก.พ.) โดยดัชนีฮั่งเส็งของตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวขึ้นหลังจากข้อมูลจากไฉซินบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของจีนยังคงขยายตัวในเดือนม.ค. ขณะที่ ดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลง หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ จนกว่าเฟดจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า เงินเฟ้อในสหรัฐกำลังปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน

ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ระดับ 15,694.56 จุด เพิ่มขึ้น 209.49 จุด หรือ +1.35%, ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ระดับ 2,794.03 จุด เพิ่มขึ้น 5.48 จุด หรือ +0.20% และดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดภาคเช้าที่ระดับ 36,024.29 จุด ลดลง 262.42 จุด หรือ -0.72%

ดัชนี S&P/ASX 200 ของตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปรับตัวลดลง 1% หลังจากปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 8 วัน

หุ้นเพย์เทียม (Paytm) ปรับตัวลดลงสูงสุด 20% ในตลาดหุ้นมุมไบ หลังหน่วยงานการเงินของอินเดียสั่งการให้บริษัทดังกล่าวหยุดรับเงินฝากใหม่ตั้งแต่เดือนมี.ค.

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยไฉซินและเอสแอนด์พี โกลบอล เซอร์วิสระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนยังคงมีการขยายตัวในเดือนม.ค. โดยได้แรงหนุนจากผลผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่มีความรวดเร็วขึ้น และยอดสั่งซื้อเพื่อการส่งออกลอตใหม่ที่ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือนม.ค.อยู่ที่ระดับ 50.8 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับในเดือนธ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 50.6 โดยดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว

สำนักงานสถิติฮ่องกงเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแม้ว่ารวดเร็วกว่าในไตรมาส 3 ที่มีการขยายตัว 4.1% แต่ก็ยังน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า อาจขยายตัว 4.7%

ส่วนตลอดปี 2566 นั้น GDP ฮ่องกงขยายตัว 3.2% ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หดตัวลง 3.7% ในปี 2565 โดยเศรษฐกิจในปี 2566 ของฮ่องกงได้รับปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ขณะที่ตัวเลข GDP ของจีนแผ่นดินใหญ่ขยายตัว 5.2% ในปี 2566

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้จัดการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) โดยนายพาวเวลกล่าวกับสื่อมวลชนว่า เฟดไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะอยู่ในทิศทางที่จะทำให้เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในเดือนมี.ค.

นายพาวเวลกล่าวว่า “คณะกรรมการ FOMC เชื่อมั่นว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อมีข้อมูลยืนยันว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้แล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากการประชุมในครั้งนี้ ผมไม่คิดว่าคณะกรรมการ FOMC จะมีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ได้ภายในช่วงเวลาที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. ซึ่งหมายความว่าเราไม่อาจชี้ชัดได้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือนมี.ค.”

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 4 และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด

ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงเมื่อวานนี้ โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,150.30 จุด ลดลง 317.01 จุด หรือ -0.82%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,845.65 จุด ลดลง 79.32 จุด หรือ -1.61% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,164.01 จุด ลดลง 345.89 จุด หรือ -2.23%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 67)

Tags: ,