“นิวรัลลิงก์” ของอีลอน มัสก์ ปลูกถ่ายชิปในสมองมนุษย์เป็นครั้งแรก

นายอีลอน มัสก์ ผู้เป็นเจ้าของบริษัท นิวรัลลิงก์ คอร์ป (Neuralink Corp) บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีประสาท เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการปลูกถ่ายชิปเข้าไปในสมองของผู้ป่วยมนุษย์รายแรก ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของบริษัทที่มุ่งเป้าให้มนุษย์สามารถใช้สมองและความคิดในการควบคุมคอมพิวเตอร์ได้

นายมัสก์โพสต์ผ่านเอ็กซ์ (X) ว่า ผู้ป่วยกำลังฟื้นตัวได้ดี และผลลัพธ์เบื้องต้นของการปลูกถ่ายก็มีแนวโน้มเป็นไปด้วยดี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การปลูกถ่ายชิปในสมองมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงให้สามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ได้ด้วยการใช้เพียงแค่ความคิดเท่านั้น

เมื่อเดือนพ.ค. 2566 นิวรัลลิงก์ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ดำเนินการทดลองในมนุษย์เป็นครั้งแรก และในช่วงปลายปี 2566 นิวรัลลิงก์ได้เปิดรับอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยอัมพาตตั้งแต่ใต้คอลงไป เนื่องมาจากอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังส่วนคอ หรือจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) เพื่อเข้าร่วมการทดลองดังกล่าว

นายมัสก์ประกาศผ่านเอ็กซ์ว่า ผลิตภัณฑ์แรกของนิวรัลลิงก์จะมีชื่อว่า เทเลพาธี (Telephathy) ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถใช้ความคิดในการควบคุมโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ได้เกือบทุกชนิด โดยผู้ใช้กลุ่มแรกคือบุคคลที่สูญเสียความสามารถใช้การใช้แขนและขา

นายมัสก์กล่าวเสริมว่า ให้ลองจินตนาการดูว่าสตีเฟน ฮอว์กิง สามารถสื่อสารได้เร็วกว่าพนักงานพิมพ์ดีด นั่นคือเป้าหมายของเทเลพาธี

ก่อนหน้านี้ นิวรัลลิงก์ได้ทำการทดลองในวงกว้างกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาแล้ว รวมถึงลิง ซึ่งพบว่าลิงเหล่านั้นสามารถเล่นเกมคอมพิวเตอร์ได้โดยใช้เพียงแค่สมองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์ เช่น คณะกรรมการแพทย์เพื่อการแพทย์ที่มีความรับผิดชอบ (Physicians Committee for Responsible Medicine หรือ PCRM) ที่มีความกังวลเกี่ยวกับการทดลองกับลิง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 67)

Tags: , , , , ,