ต้นทุนการเลี้ยงดูเด็กพุ่งทั่วโลกเหตุเงินเฟ้อสูง ผู้หญิงออกจากงานกระทบเศรษฐกิจ

อีซีเอ อินเตอร์เนชันแนล (ECA International) ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ด้านการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ระดับโลก รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ต้นทุนการใช้จ่ายในการดูแลเด็กพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2566 ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยของสถานดูแลเด็กเล็ก เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า

รายงานของอีซีเอระบุว่า การยุติแนวโน้มนี้คือกุญแจสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจรอดพ้นจากภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในหลายประเทศแทบไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินซึ่งครอบครัวที่มีเด็กเล็กต้องเผชิญ

ผู้หญิงต้องแบกรับความเครียดอย่างหนัก เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงมักเป็นฝ่ายรับผิดชอบเลี้ยงดูเด็ก โดยผู้หญิงเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากว่าจะทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงดูเด็กหรือไม่ หรือต้องลดเวลาการทำงานลง หรือตัดสินใจที่จะไม่รับการเลื่อนตำแหน่ง หรือลาออกจากงาน นอกจากนี้ ผู้หญิงอีกจำนวนมากก็กำลังตัดสินใจว่าจะมีลูกน้อย หรือเลือกที่จะไม่มีลูกเลย

นางอาเดรียนา ดูปิตา นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า “เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ผู้หญิงออกจากตลาดแรงงาน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้น 10% หากอัตราการจ้างงานผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย”

รายงานระบุว่า สหรัฐสูญเสียเงินประมาณ 2.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐไปทุก ๆ ปี เนื่องจากผู้หญิงลดเวลาการทำงานลง เพื่อมาเลี้ยงดูลูก ส่วนในสหภาพยุโรป เม็ดเงินดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2.42 แสนล้านยูโร (2.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยการศึกษาวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานผู้หญิงช่วยเพิ่มผลิตภาพ ลดระดับความไม่เท่าเทียมกัน และลดความยากจนขั้นรุนแรง

เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ดังกล่าวแล้วนั้น รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ จึงกำลังค้นหาวิธีสนับสนุนพนักงานที่มีบุตร เช่นในญี่ปุ่น ธุรกิจบางแห่งเสนอเงินอุดหนุนการดูแลเด็กและที่อยู่อาศัยที่เหมาะต่อครอบครัว ในฐานะส่วนหนึ่งของสวัสดิการพนักงาน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 67)

Tags: ,