คิม จองอึน รื้อถอนอนุสาวรีย์รวมชาติ ลั่นขัดหูขัดตา ชี้เกาหลีใต้เป็นศัตรูตัวฉกาจ

เกาหลีเหนือรื้อถอนอนุสาวรีย์ในกรุงเปียงยาง ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับความหวังการในรวมชาติกับเกาหลีใต้ ในขณะที่นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เริ่มต้นปีใหม่ด้วยการยกระดับการกดดันต่อเกาหลีใต้ ซึ่งเขากล่าวว่าเป็น “ศัตรูตัวฉกาจ” ของเขา

เอ็นเค นิวส์ เว็บไซต์ข่าวอเมริกันที่ติดตามวิเคราะห์เจาะลึกเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ รายงานเมื่อวันอังคาร (23 ม.ค.) ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นว่า อนุสาวรีย์สามสัญญาเพื่อการรวมชาติ (Monument to the Three Charters for National Reunification) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ประตูชัยแห่งการรวมชาติ (The Arch of Reunification) ได้หายไปแล้ว แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าถูกรื้อถอนไปเมื่อใด หรือถูกรื้อถอนออกไปอย่างไร

ในระหว่างกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาเกาหลีเหนือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายคิมกล่าวว่าอนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ “ขัดหูขัดตา” และกล่าวว่าเขาต้องการขจัดแนวคิดการรวมชาติอย่างสันติกับเกาหลีใต้ออกจากรัฐธรรมนูญของประเทศ

อนุสาวรีย์สามสัญญาเพื่อการรวมชาติ มีความสูง 30 เมตร ได้รับการเปิดตัวในปี 2544 หลังจากที่นายคิม แดจุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เดินทางเยือนกรุงเปียงยางในปี 2543 เพื่อพบปะกับนายคิม จองอิล อดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ผู้เป็นบิดาของนายคิม จองอึน โดยการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้จุดประกายแห่งความหวังในการปรองดองระหว่างทั้งสองชาติแห่งคาบสมุทรเกาหลี

ข้อมูลบนเว็บไซต์แนนารา ซึ่งเป็นเว็บไซต์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ระบุว่า อนุสาวรีย์สามสัญญาเพื่อการรวมชาติตั้งอยู่บนทางหลวงแห่งการรวมชาติ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกรุงเปียงยางกับเกาหลีใต้ เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของนายคิม อิลซุง บิดาผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ ในการรวมประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การที่นายคิมรื้อถอนสัญลักษณ์เกี่ยวกับการรวมชาติ และยุบหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดังกล่าว นับเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้มีแนวคิดสายอนุรักษ์นิยมซึ่งดำเนินแนวทางที่แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ และสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับเกาหลีเหนือด้วยการกระชับความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐและญี่ปุ่น รวมถึงการซ้อมรบร่วมเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการบริหารของนายยุนอย่างรุนแรง การกระทำของนายคิมอาจถูกมองว่าเป็นความพยายามโน้มน้าวผลการเลือกตั้งของเกาหลีใต้ที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมที่มีแนวโน้มสนับสนุนความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเกาหลีเหนือนั้นตั้งเป้าที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 67)

Tags: , , ,