แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม.วงเงิน 224,544 ล้านบาทว่า ขณะนี้รฟท. มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้ว โดยมีเป้าหมาย ออกหนังสือแจ้งเริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) ให้บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด (ซี.พี.) ในเดือนม.ค. 2567 นั้น แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเงื่อนไขออก NTP จะต้องให้เอเชีย เอราวัน รับบัตรส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ก่อน ซึ่งที่ผ่านมา เอกชนได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 2567 นี้ ล่าสุดเอเชีย เอราวันได้ยื่นขอขยายระยะเวลา ครั้งที่ 3 โดยไปสิ้นสุด 22 พ.ค.2567 แต่บีโอไอไม่อนุญาตให้ขยาย ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์ที่เอเชีย เอราวัน จะได้รับจากบีโอไอหายไป
ทั้งนี้ ตามกฎหมายด้านการส่งเสริมการลงทุน เอกชนมีสิทธิ์ขอขยายเวลาได้ 3 ครั้งๆ ละ 4 เดือน ซึ่งขอขยายมา 2 ครั้งแล้ว โดยเอกชนอ้างว่ายังส่งเอกสารเพิ่มเติมไม่ได้เนื่องจากอยู่ในกระบวนการแก้ไขสัญญา ซึ่งรฟท.ยืนยันว่า การแก้ไขสัญญาไม่ได้กระทบสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้ทำให้หลักการของสัญญามีการเปลี่ยนแปลง
รอคำตอบอัยการ ปลดล็อกเงื่อนไข
โดยรฟท.มองว่าขณะนี้โครงการล่าช้ามากแล้ว และทำให้รฟท.เสียหาย นักลงทุนไม่เชื่อมั่น รฟท.จึงได้ทำหนังสือหารือสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอความชัดเจนว่า หากเอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริม รฟท.จะสามารถยกเว้นเงื่อนไขและออก NTP ได้หรือไม่เพราะในสัญญาร่วมทุนฯ มีกำหนดว่าหากเงื่อนไขใดไม่สามารถปฎิบัติได้คู่สัญญาสามารถขอยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวไม่นำมารวมในการออก NTP ได้ซึ่งขณะนี้ทาง อัยการสูงสุดไม่ได้ตอบกลับมา
แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ คณะทำงานฯ ที่มีรฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) และที่ปรึกษา จะหารือร่วมกัน เพื่อประเมินการดำเนินการจากนี้ พร้อมทั้งคงต้องรอทาง เอเชีย เอราวัน แจ้งมาอย่างเป็นทางการเรื่องบีโอไอไม่ขยายเวลาแล้วจะจะทำอย่างไรต่อ รวมถึงรอคำตอบจากอัยการ โดยคาดว่าจะไม่นาน เพราะรฟท.ได้ชี้แจงอัยการแล้วถึงความเร่งด่วน
“ประเด็น ตอนนี้อยู่ที่ คำตอบของอัยการ หากเห็นว่า การออก NTP สามารถตัดเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนออกได้ ถือเป็นการแก้ปัญหาสำคัญโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินและจะทำให้เริ่มต้นก่อสร้างได้เสียที ซึ่งจะทำให้จัดแผนก่อสร้างมีความชัดเจน รวมไปถึงสามารถแก้ปัญหาผลกระทบต่อการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาที่ ต้องวางแผนร่วมกันในการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ลอดใต้รันเวย์ 2 ซึ่งขณะนี้ กองทัพเรือ เปิดประมูลก่อสร้าวรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาแล้ว และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนต.ค. 2567
ส่วนกรณีขอบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ นั้นทางเอกชนยังมีสิทธิ์ขอใหม่ได้ แต่ต้องกลับไปเริ่มต้นขั้นตอนใหม่ หรือจะสละสิทธิ์บีโอไอและไปขอสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามประเภทที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ ก็ได้ ต้องดูว่า ทาง เอเชีย เอราวันฯ จะเลือกแนวทางใด ซึ่งสิทธิประโยชน์จาก อีอีซี จะเจรจาเป็นรายโครงการและได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าบีโอไอ”
ให้ “เอเชีย เอราวัน” ทำโครงสร้างร่วมไฮสปีด-รถไฟไทย-จีน
แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า สำหรับประเด็นโครงสร้างร่วม ระหว่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับ โครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองระยะทาง 15.2 กม. ที่ผ่านมามีการเจรจากันหลายครั้ง ล่าสุดเห็นว่า ควรให้ เอเชีย เอราวัน เป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างร่วมทั้งหมด ซึ่งได้รายงานต่อคณะกรรมการบริหารสัญญาฯแล้วเห็นว่า งานโครงสร้างร่วม มีสัดส่วนเนื้องานของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มากกว่ารถไฟไทย-จีน และสามารถใช้วิธีการการเพิ่มเติมเนื้องาน (VO) เป็นการบริหารสัญญาที่ไม่ได้แก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ทำให้มีความรวดเร็วกว่าการที่ รฟท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมเอง เพราะจะต้องมีการตัดเนื้องานและค่าก่อสร้างออกจากสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่งต้องเสียเวลาในการแก้ไขสัญญาอีก
“ที่ผ่านมา เสียเวลาในการแก้ไขสัญญามานาน ประเด็น แก้ไขถ้อยคำ และการแบ่งชำระค่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มานานแล้ว หากรฟท.จะทำโครงสร้างร่วมเอง ต้องตัดเนื้องาน ตัดเงินออกจาก ก็ต้องเสียเวลาแก้ไขสัญญาอีก ตอนนี้จึงอยากเร่งแก้ไขสัญญาเรื่องเดียวก่อน”
สำหรับโครงสร้างร่วมไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินกับรถไฟไทย-จีนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง มีค่าก่อสร้างรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท แยกเป็นค่างานโครงสร้างในส่วนของไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 11,000 ล้านบาท โครงสร้างของรถไฟไทย-จีน 9,000 ล้านบาท ซึ่งสัญญา 4-1 ของรถไฟไทย-จีน ตั้งวงเงินดำเนินการไว้แล้ว 4,000 ล้านบาท ดังนั้นรฟท.จะต้องเสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าก่อสร้างให้ เอเชีย เอราวัน ซึ่งวงเงินที่เพิ่มยังอยู่ภายใต้กรอบลงทุนโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ที่มีวงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 67)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, รถไฟความเร็วสูง, รฟท., สนามบิน