ตลท.หาช่องแฉข้อมูลแก๊งค์ปั่นหุ้นช่วงรอ ก.ล.ต.ฟันผิด พร้อมจับมือ บล.ช่วยขวางขบวน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกันศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลการกระทำความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหุ้นออกมาได้เร็วขึ้น เพราะปัจจจุบันข้อมูลจะยังไม่ออกมาจนกว่าจะมีผลการตัดสิน จึงมีช่องว่างของเวลาค่อนข้างมาก

เราเห็นปัญหานี้และจะกลับไปทำการบ้าน เพราะไม่ใช่แค่ ตลท.ที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะกระบวนการตรวจสอบเมื่อเราพบการกระทำความผิดกฎหมายระบุให้รวบรวมข้อมูลส่งให้ ก.ล.ต.ตรวจสอบในเชิงลึก ตลท. ไม่มีอำนาจจัดการ กระบวนการนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. เราพยายามประสานด้วยความรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าทั้งกรณี STARK และ MORE สามารถกล่าวโทษได้เร็ว แต่บางกรณีมีผู้กระทำผิดจำนวนมาก ซึ่งจะต้องได้รับการพิสูจน์จนกว่าจะหมดข้อสงสัย โดยเฉพาะความผิดอาญา

“จะมีอะไรที่สามารถให้ข่าวได้บ้าง จะมีอะไรที่สามารถให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนได้บ้าง จะไปทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.”นายภากร กล่าว

ผู้จัดการ ตลท.กล่าวอีกว่า การให้ข้อมูลกับนักลงทุนมากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นสิ่งที่ตลท.ให้ความสำคัญ ซึ่งในปีนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุน ตลท.ได้พัฒนาระบบ Financial data health check เพื่อติดตามคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน เช่น ข้อมูลงบการเงิน ผลประกอบการ เป็นต้น

คอนเส็ปต์หลักในอนาคตคือการให้ข้อมูลมากขึ้น ทำอย่างไรให้นักลงทนและสื่อได้รับข้อมูลเร็วขึ้น ในอดีตเป็นรายไตรมาส แต่จะปรับให้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ แต่หากมีข้อมูลมากขึ้นแล้วไม่มีคนนำไปวิเคราะห์หรือไปใช้ต่อก็ไม่มีประโยชน์ หวังว่าสื่อโซเชียล นักวิเคราะห์ หรือผู้ที่สนใจตลาดทุนควรใช้ข้อมูลไปสร้างประโยชน์เพื่อการลงทุนในอนาคต

นายภากร กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาการทำงานของ ตลท.ในส่วนของ บจ.ได้มีคำสั่งต่าง ๆ ออกมาเพื่อให้มีการชี้แจงข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะรายละเอียดในงบการเงิน เพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เราทำทุกบริษัท ต้องเข้ามาช่วยกันดูต่อว่าตรงไหนสำคัญหรือตรงไหนไม่สำคัญ และดูว่าทำไมเราถึงให้ข้อมูลนั้น

“ยกตัวอย่างเคส STARK เราเห็นตัวเลขตั้งแต่ไตรมาส 3 แต่ยังไม่มีใครพูดถึง ซึ่งพบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เราอยากให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์พิจารณา จึงมีการสั่งให้ชี้แจงเพิ่มเติม เราดู backwards ดูอัตราส่วนการเงิน เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เฝ้าติดตามดูแลใกล้ชิด ในอนาคตจะพัฒนาแพลตฟอร์ม health check เพื่อให้นักลงทุนไปใช้”

การจับผิดมีหลายส่วน คือ การจะป้องกัน หยิบยกเรื่องขึ้นมาว่าผิดปกติ และ การเอาผิด ต้องแก้ทั้ง 3 เรื่องพร้อมกัน การป้องกัน ทำอย่างไรที่จะให้เหตุการณ์ที่ถูกโกงเกิดขึ้นได้ยาก และเตือนให้ระวังมากกว่าการให้ข้อมูล เห็นด้วยว่าเราและหน่วยกำกับจะต้องฟ้องร้องให้เร็วที่สด แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเอาผิดทางอาญามีขั้นตอนการตรวจสอบยาวมาก แม้ว่าการเอาผิดทางแพ่งทำได้เร็วขึ้น แต่มุมมองคือยังไม่แรงพอที่จะทำให้ขยาด ดังนั้น ทั้ง 3 เรื่องต้องไปทำการบ้านเพิ่ม แต่เห็นความร่วมมือของหน่วยงานกำกับแล้วว่าดีขึ้นเร็วขึ้น หวังว่าจะทำ step ที่ 3 ให้ได้เร้วขึ้น

“เราไม่ได้เป็นหน่วยกำกับ แต่เป็น marketplace เป็น front line ไม่ใช่ตำรวจ เมื่อเห็นคนกระทำผิดก็บอกตำรวจ ประสานความร่วมมือ ส่งข้อมูลให้หน่วยกำกับเข้าไปดูการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดปกติ ประสาน ตำรวจ ก.ล.ต นำมาสู่การกล่าวโทษ การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เกิดที่เรา แต่ส่งข้อมูลให้เท่านั้น”

นอกจากนั้น ในปีนี้ก็จะหารือร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์เพื่อหาทางให้สมาชิกที่มีข้อมูลของผู้กระทำความผิดสามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ ทำอย่างไรให้องคาพยพในตลาดทุนทำในสิ่งที่ควรจะทำ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ที่ปรึกษา คือ โอลิเวอร์ ไวแมน กำลังเข้ามาดูทั้งระบบ เพื่อชี้ให้เห็นว่าใครควรจะทำอะไรบ้าง ใครทำอยู่แล้ว ใครยังไม่ได้ทำ เราจะเริ่มปรับอย่างนั้นได้อย่างไร แต่จะต้องเป็นสเต็ปไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 67)

Tags: , , , , ,