นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงมุมมองตลาดทุนไทยในปี 67 เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อัตราดอกเบี้ย รวมทั้งค่าเงิน แต่การฟื้นตัวของตลาดทุนไทยเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะเติบโตสูงกว่าปี 66 ซึ่งบริษัทจดทะเบียนก็จะมีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น
ทั้งนี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะที่มีความสามารถทำกำไร สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ดังนั้นในปีนี้ภาพรวมควรจะเห็นความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามต้องติดตามหากมีปัจจัยใหม่ที่คาดเดาไม่ได้ออกมาเพิ่มเติม จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ขณะที่การเข้ามาลงทุนของต่างชาติจะประกอบด้วยการลงทุนแบบ Passive Fund ที่ลงทุนตามน้ำหนักของดัชนีต่าง ๆ ที่เป็นดัชนีสำคัญในโลก และกลุ่มที่เข้ามาลงทุนเพื่อผลกำไรในระยะสั้น ซึ่งนักลงทุนกลุ่มระยะยาวน้ำหนักการลงทุนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นอย่างไร โดยคงอยู่ที่ระดับ 29.7-30%
“กลุ่มที่มีการไหลเข้า-ออกจำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผมคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาซื้อขายในระยะสั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อ 2 ปีก่อน เข้ามา 8-9 พันล้านบาท ปีที่แล้วไหลออกประมาณ 8 พันล้านบาทเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่มีความผันผวนมาก เราน่าจะเห็นการไหลเข้า-ออกของเงินระยะสั้นค่อนข้างมาก”ผู้จัดการตลาดฯกล่าว
อย่างไรก็ตามหากเริ่มมีปัจจัยบวกที่ทำให้นักลงทุนเห็นว่าการเข้ามาลงทุนในระยะสั้นได้ประโยชน์ อาทิ ดอกเบี้ย ค่าเงิน หรือผลประกอบการที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะมีเงินไหลกลับเข้ามาในประเทศไทย หลังจากปี 66 ไหลออกไปค่อนข้างเยอะ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีทีผ่านมาเริ่มเห็นเม็ดเงินจากต่างชาติไหลกลับเข้ามาแล้ว
แผนการดำเนินงานของตลท.ในปี 67 จะต้องให้ความสำคัญกับการนำผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเข้ามาให้นักลงทุนในประเทศไทยได้ลงทุนง่ายและสะดวกขึ้น และประเด็นในประเทศให้ความสำคัญมากขึ้นกับการช่วยเหลือบริษัทที่ถูกกระทบจากเหตุการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาปรับคุณภาพสำหรับบริษัทที่เข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทย โดยจะปรับมาตรการฐานการเข้ามาระดมทุนให้สูงขึ้น เพื่อเป็นการดูแลคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน ยิ่งไปกว่านั้นได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนหรือการซื้อขายมากขึ้น เช่น การนำบริษัทต่างประเทศเข้ามาช่วยประเมินงานที่กำลังทำอยู่ และมีสิ่งใดบ้างที่จะทำให้ดีมากขึ้น
“สิ่งที่เราทำมาโดยตลอดเราทำอย่างเต็มที่ และเป็นมาตรการสากล หากแต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ การซื้อขาย มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้เราตระหนักถึงการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน กฎระเบียบ การให้ข้อมูลต่าง ๆ นี่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากขึ้นจากทุกปี ซึ่งจะเป็นการปรับตัวร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนทั้งหมด”
นอกจากนี้ประเด็นหุ้นกู้ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ประกอบด้วยความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าหุ้นกู้นั้น ๆ มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง และการบริหารสภาพคล่องของบริษัท ที่จะนำมาจ่ายชำระคืนดอกเบี้ยหรือเงินต้น ทั้งนี้สิ่งที่ทางตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ร่วมมือกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คือการหาแนวทางให้ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่สู่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้น โดยขณะที่อยู่ระหว่างการรวบรวมฐานข้อมูล และทำให้ข้อมูลต่าง ๆ เชื่อมกัน ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์พิจารณาเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 67)
Tags: ตลท., ตลาดทุนไทย, ตลาดหุ้น, ภากร ปีตธวัชชัย