แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (ต.ค.-ธ.ค.66) แต่ Krungthai COMPASS ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ
1. ภาครัฐมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหลักทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบ ได้แก่ ลดค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. ลดราคาน้ำมันดีเซลในเดือน ต.ค. และลดราคาน้ำมันเบนซินในเดือน พ.ย. ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานในไตรมาสที่ 4/2566 หดตัว -3.7%YoY
2. ราคาสินค้าบางรายการขยายตัวชะลอลง เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสต็อกสินค้า และ/หรืออุปทานในตลาดเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่สินค้าคงคลังปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงผู้ผลิตนำสินค้าในสต็อกมาขาย และอาจปรับลดราคาลงเพื่อเร่งระบายสินค้า
นอกจากนี้ อุปทานของสินค้าบางชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นในตลาด ทำให้ราคาปรับลดลง เช่น ปริมาณเนื้อสุกรในระบบที่มีมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาสินค้าในกลุ่มนี้ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังอุปทานทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.0% ชะลอลงจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 1.23% จากราคาหมวดพลังงานที่มีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าปี 2566 โดยปรับลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีก ทั้งดีเซลและเบนซิน ภายใต้สมมติฐานที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ซึ่งลดลงจากราคาในปี 2566 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 32.1 บาท/ลิตร และราคาน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากการลดภาษีสรรพสามิตที่คาดว่าจะภาครัฐขยายระยะเวลาออกไป (ที่จะสิ้นสุด 31 ม.ค. 67) ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัว สำหรับค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับลดลงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในทะเลแดง ที่ส่งผลให้ต้นทุนค่าระวางเรือขยับขึ้น รวมทั้งแรงกดดันที่มีต่อราคาน้ำมันดิบให้ปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดได้
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธ.ค.66 ลดลง -0.83% YoY ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด จากผลของสินค้าในหมวดพลังงานที่หดตัว -5.12% YoY ติดลบมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (พ.ย.66) ที่ -4.52%YoY ตามนโยบายการลดภาระค่าของชีพด้านพลังงานของภาครัฐ ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ขณะที่เงินเฟ้อหมวดอาหารสดหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ -2.3%YoY เปรียบเทียบเดือนก่อนที่ -0.76%YoY ตามราคาเนื้อสุกรที่ลดลง เนื่องจากปริมาณเนื้อสุกรในระบบเพิ่มขึ้น และราคาผักสดลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.58%YoY ชะลอตัวต่อเนื่องจากสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องประกอบอาหาร ขณะที่ราคาสินค้าที่ขยายตัวชะลอลง ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคในบ้าน เครื่องนุ่มห่มและรองเท้า เป็นต้น
ทั้งนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ 1.23% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 1.27%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 67)
Tags: KTB, ธนาคารกรุงไทย, เงินฝืด, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย