“ก้าวไกล” สรุปปิดท้ายงบฯปี 67 ไม่ตอบโจทย์แก้วิกฤต ห่วง “แลนด์บริดจ์” ไม่คุ้มค่า

ภายหลังการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้าย พรรคก้าวไกล โดยน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ได้แถลงสรุปการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 67

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า งบประมาณปี 2567 ไม่ได้สะท้อนการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ เป็นการตั้งงบประมาณไว้อย่างไม่ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของปัญหา ไม่ตอบโจทย์วิกฤตเศรษฐกิจ-ความมั่นคง-สิ่งแวดล้อม และยังมีการสอดไส้งบประมาณที่ไม่ตรงกับแผนสร้างความสามารถในการแข่งขัน

พร้อมฝากคำถามขอให้มีการชี้แจงในช่วงสุดท้ายของการอภิปราย ก่อนที่จะมีการลงมติวันนี้ โดยเริ่มจาก

– วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ในประเด็นรัฐบาลโกงสูตร GDP เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งในเอกสารจากสำนักงบฯ ระบุว่า ปีนี้ GDP โต 5.4% และแม้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังจะชี้แจงว่า เป็นการโชว์ตัวเลขแค่จุดเดียว แต่หากยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาด และไม่มีประเทศไหนที่ทำตัวเลขจีดีพี โดยรวมเงินเฟ้อเข้าไปด้วย หรือเรียกว่า Nominal GDP มาเป็นประมาณการเศรษฐกิจ เรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาถกเถียงกัน

ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวถึงการตั้งงบฯผิดพลาด โดยเฉพาะงบบำเหน็จบำนาญไม่พอจ่ายในปี 67 เงินเดือนข้าราชการที่ไม่ได้ตั้งเผื่อไว้แม้จะมีนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งยังไม่ได้รับคำชี้แจงว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร จะต้องใช้งบกลางหรือไม่ หรือจะต้องไปเอาเงินคงคลังจะใช้ต่อ

ส่วนการประมาณการรายได้สูงเกินจริง ทางพรรคก้าวไกลได้อภิปรายภาษี 4 ตัวที่หายไป ซึ่งพรรคไม่ได้มีปัญหากับการใช้นโยบายด้านภาษี แต่กังวลว่า ประมาณการรายได้ที่ลดลง จะหาเงินส่วนไหนมาชดเชย เพราะเงินที่หายจากทั้งภาษีขายหุ้นที่ไม่เก็บแล้ว การลดหย่อนกองทุน TESG ที่ต้องเสียภาษีหายไปอีก 10,000 ล้านบาท รายได้ที่ต้องนำส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและเบนซิน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกลับชี้แจงเพียงภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาลดไปหมื่นกว่าล้านเกือบๆ สองหมื่นล้าน ระหว่างดำเนินมาตรการมา 2 เดือน แต่ในความเป็นจริงเราคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะดำเนินมาตรการต่อเนื่องไปถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 67 ดังนั้น รัฐบาลกำลังจะไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรสามิตน้ำมันใช่หรือไม่

รวมไปถึงหนี้ตาม ม.28 ถึงแม้ไม่ได้นับรวมกับหนี้สาธารณะ แต่เป็นหนี้ที่ประชาชนต้องรับผิดชอบผ่านการจ่ายภาษี จึงอยากให้รัฐบาลยอมรับหนี้ส่วนนี้มีเท่าไร จ่ายไปอีกกี่ปี และการตั้งงบประมาณใช้หนี้ปรับลดลง เพื่อไปใช้ในโครงการอื่นๆ จึงฝากรัฐบาลจะมีวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

– วิกฤตด้านความมั่นคง ในสัดส่วนงบกลาโหม เป็นการเปรียบเทียบงบกลาโหมแต่ละวิกฤตที่ผ่านมา เมื่อเทียบสัดส่วนทั้งหมดลดลง แต่งบกลาโหมปี 67 กลับเพิ่มขึ้น 2% แม้นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมจะชี้แจงว่า เมื่อเทียบสัดส่วนงบทั้งหมดก็ถือว่า ลดลง แต่ลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิกฤตที่ผ่านมาๆ

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลจะติดตามเรื่องแผนลดกำลังพล ซึ่งเราคาดหวังการลดงบประมาณส่วนบุคคลของกองทัพได้แล้ว ไม่ใช่เพิ่มขึ้นแบบนี้ แต่มีนโยบายเกษียณอายุก่อนราชการ สำหรับข้าราชการกลาโหม ทางพรรคติดตามต่อในงบฯ ปี 68 เพราะต้องมีการตั้งงบตั้งงบเพื่อชดเชยค่าตอบแทน สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการและงบบุคคลากรน่าจะเพิ่มขึ้นในปี 68

– วิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งปัญหาจะเริ่มทวีความรุนแรงในช่วงต้นปี และภาคเหนือจะประสบปัญหาหนักตั้งแต่ก.พ. เป็นต้นไป แต่เรื่องนี้นายกฯ ยอมรับเองว่า ไม่มีแผนชัดเจนในปี 67 และไปใช้งบกลางในการดำเนินโครงการนี้ และแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลและหวังจะได้รับการแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้น แต่ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม

ฝากนายกฯ ทำการบ้าน “แลนด์บริดจ์” ใหม่ กังวลไม่คุ้มค่าเม็ดเงินลงทุน

น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีการตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วนในปี 67 คือ งวดงานสุดท้ายในการศึกษาความเป็นไปได้ มูลค่า 68 ล้านบาท และตั้งงบใหม่ในการทำเอกสารไปเชิญชวนลงทุนอีก 45 ล้านบาท โดยได้ชี้ถึงข้อผิดพลาดในเรื่องท่อน้ำมัน ซึ่งในรายงานศึกษาไม่มีการศึกษาว่า จะมีท่อน้ำมันอยู่ในโครงการแลนด์บริดจ์ การที่คาดหวังว่าจะหานักลงทุนที่ทำเรื่องขนถ่ายน้ำมันข้ามระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิค อาจเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว

รวมถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ช่องแคบมะละกาแออัดนั้น จากการสอบถามภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางเรือ ยืนยันว่า ช่องแคบไม่ได้แออัดจึงไม่ใช่เหตุผลที่นำมาอ้างเพื่อจะสร้างแลนด์บริดจ์ และตัวเลขความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการมีการประเมินรายได้สูงเกินไป และมีการประมาณการประหยัดเวลาสูงเกินจริง และหากโครงการนี้เป็นแบบ PPP ที่เอกชนลงทุนเองก็ไม่ต้องกังวล แต่ถ้ารอแล้วไม่มีนักลงทุนมา คนที่กังวลคือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกเวนคืน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก้าวไกลเห็นด้วยการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ และเห็นด้วยกับการปรับปรุงท่าเรือที่ระนองให้เป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และเห็นด้วยกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่กังขา คือโครงการแลนด์บริดจ์จะคุ้มค่าจริงหรือไม่ จึงต้องฝากนายกรัฐมนตรีดำเนินการศึกษาให้รอบคอบกว่านี้ด้วย

นอกจากนี้ น.ส.ศิริกัญญา คาดหวังจะเห็นนายกฯ ชี้แจงงบประมาณมากกว่านี้ แต่กลับมอบรมช.คลัง เป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องน่าผิดหวัง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 67)

Tags: , ,