พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รายงานสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธ.ค.66 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ว่า เกิดอุบัติเหตุ 385 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 404 คน ผู้เสียชีวิต 37 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 34.55% ดื่มแล้วขับ 22.60% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 85.29% ส่วนใหญ่เกิดเหตุบนเส้นทางตรง 80.52% ถนนกรมทางหลวง 38.44% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 35.32% ช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วง 18.01-19.00 น. 9.61% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี 20.63% จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตาก (18 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตาก (18 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย) โดยจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,774 จุด และมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,408 คน
ขณะที่สถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (29-30 ธ.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 724 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 739 คน ผู้เสียชีวิตรวม 71 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 37 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ ขอนแก่น (31 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น และตาก (จังหวัดละ 30 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปราจีนบุรี (จังหวัดละ 5 ราย)
รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ และมีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมถึงเฉลิมฉลองกันตามสถานที่จัดงานปีใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะเส้นทางชุมชนเข้าออกหมู่บ้านเพื่อเข้าสู่ถนนสายหลัก พร้อมคุมเข้มเส้นทางโดยรอบแหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน สถานบันเทิง และสถานที่จัดงานเทศกาลปีใหม่ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ ศปถ.ได้ประสานจังหวัด ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครในพื้นที่ เพิ่มกำลังตรวจตราดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ คุมเข้มพฤติกรรมดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้าออกชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงเข้มงวดร้านค้าในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และการจำหน่ายเร่ขายในบริเวณสถานที่จัดงาน ควบคู่กับการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนและการลงโทษตามกฎหมายที่กำหนด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ธ.ค. 66)
Tags: 7 วันอันตราย, ศปถ., อุบัติเหตุ