นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย”ว่า เนื่องจากเกิดปัญหาติดขัดเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้ต้องมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เช่น ไฟเซอร์,โมเดอร์นา, โนวาแว็กซ์ หลังบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า แจ้งว่ามีกำลังการผลิตเดือนละ 15-16 ล้านโดส และสามารถจัดส่งให้ได้ราวเดือนละ 5-6 ล้านโดส ซึ่งที่ผ่านมาในเดือน มิ.ย.จัดส่งให้ 6 ล้านโดส ครบจำนวน 100% แต่ในเดือน ก.ค.จัดส่งให้ได้เพียง 5-6 ล้านโดส หรือ 38% โดยบริษัทฯ จะเร่งเพิ่มกำลังการผลิต
สำหรับการจัดหาวัคซีนเริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 63 โดยมี 3 แนวทางคือ 1.การสนับสนุนวิจัยและพัฒนาในประเทศ เช่น คณะเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท ใบยา โฟโต้ฟาร์ม จำกัด, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยวัคซีน ChulaCOV-19 2.ความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศ เช่น บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และ 3.การจัดหาจากผู้ผลิตวัคซีน
ส่วนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศนั้นมีความคืบหน้าอยู่ในขั้นการทดลองในคน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถผลิตใช้งานได้ แต่จะมีปริมาณที่เพียงพอหรือไม่นั้นต้องรอดูกำลังการผลิตที่ออกมา
ด้าน รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ ผู้ก่อตั้งบริษัท ใบยา โฟโต้ฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า ได้มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจากโปรตีนใบยาสูบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตผลิตเพื่อนำมาใช้ทดลองในคน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองได้ในเดือน ก.ย.64 และสามารถผลิตใช้งานได้ในปี 65
นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แล้ว เทคโนโลยีที่บริษัทฯ ใช้อยู่ยังสมารถนำไปใช้ผลิตวัคซีนโรคอื่นๆ ได้ รวมทั้งการนำมาใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)
Tags: AstraZeneca, Moderna, Pfizer, นคร เปรมศรี, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์