บอร์ดโรคติดต่อฯ เฝ้าระวัง-ยกระดับควบคุม 5 โรค พบแนวโน้มระบาดปี 67

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการป้องกันควบคุม “โรคซิฟิลิส-หนองใน” หลังพบอัตราป่วยสูงขึ้นกลุ่มเยาวชน หวังลดอัตราป่วยน้อยกว่า 1 ต่อแสนประชากร พร้อมไฟเขียวร่างกฏกระทรวง 2 ฉบับ และรับทราบ 5 โรคที่มีแนวโน้มระบาดได้ในปี 2567 ทั้งโควิด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ซิกา และชิคุนกุนยา พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2566 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ 2 เรื่อง ดังนี้

1. “นโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” ที่ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากอัตราป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มจาก 11 ต่อประชากรแสนคน ในปี 61 เป็น 18.6 ต่อประชากรแสนคน ในปี 65 โดยโรคซิฟิลิส และโรคหนองในเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชน ขณะที่อัตราป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด เพิ่มจาก 25.1 เป็น 98.2 ต่อเด็กเกิดมีชีพแสนคน

โดยจะดำเนินการภายใต้หลักการพื้นฐาน คือ ประชาชนได้รับบริการด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีประสิทธิผลและคุณภาพอย่างสะดวก ทั่วถึง ไม่มีใครถูกละเลย และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมให้บริการด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง เคารพสิทธิ และละเอียดอ่อนต่อเพศสภาพ ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย

เป้าหมายสำคัญ คือ ลดอัตราป่วยโรคซิฟิลิส โรคหนองใน และโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด ให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยยุติการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอันตราย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศภายในปี 73

2. คณะกรรมการฯ เห็นชอบร่างอนุบัญญัติที่ออกตามความใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวม 2 ฉบับ คือ

– ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

– ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรณีพบเหตุอันสมควร หรือมีเหตุสงสัยว่าพาหนะที่เข้ามาจากที่ที่มีโรคระบาด ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ จะสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังได้รับทราบความก้าวหน้าผลการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV จำนวน 1 ล้านโดสใน 100 วัน ตามนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ซึ่งบรรลุเป้าหมาย Quick Win และยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ให้มากที่สุดพร้อมจัดหาวัคซีนเพิ่ม โดยมีผู้หญิงอายุระหว่าง 11-20 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีก 1.2 ล้านคน

นอกจากนี้ เสนอร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งได้รวบรวมความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำร่างฯ และนำเสนอตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป รวมถึงรับทราบสถานการณ์โรคติดต่อ และการพยากรณ์โรคติดต่อที่มีแนวโน้มเกิดการระบาดได้ในปี 67 ดังนี้

1. โรคติดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด-19 มาตรการป้องกันเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 ลดเสี่ยงปอดอักเสบรุนแรง โดยฉีดวัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยง 608 ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เมื่อป่วย หากผลบวกไปพบแพทย์ทันที และสวมหน้ากากเมื่อป่วย หรือใกล้ชิดเด็กเล็กและกลุ่ม 608 และโรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำประชาชนฉีดวัคซีนประจำปี ลดติดเชื้อ ลดเสี่ยงปอดอักเสบ โดยขยายฉีดวัคซีนในเด็ก 6 เดือน-5 ปี หากมีไข้สูง หอบเหนื่อย รีบพบแพทย์ทันที และสวมหน้ากากเมื่อป่วย หรือใกล้ชิดเด็กเล็กผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง

2. โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา มีมาตรการป้องกันควบคุมโรค โดยผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลและได้รับการวินิจฉัย 3 โรคนี้ ให้แพทย์สั่งจ่ายยาทากันยุง จัดกิจกรรมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อเนื่อง รวมทั้งเน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หากสงสัยไข้เลือดออก โดยเฉพาะผู้ใหญ่รีบพบแพทย์ และงดทานยา NSAID ลดเสี่ยงภาวะแทรกช้อน สำหรับพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เน้นหญิงตั้งครรภ์ต้องป้องกันการถูกยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

นอกจากนี้ ยังคงเฝ้าระวังและให้คำแนะนำในการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรคฝีดาษวานร เอชไอวี/เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยย้ำกลุ่มเสี่ยงลดการสัมผัสแนบชิดกับคนแปลกหน้า หรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง หากสงสัยป่วยให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ซึ่งปัจจุบันมียาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเสี่ยงต่อป่วยรุนแรง ส่วนโรคหัด เน้นการสื่อสารให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีน MMR ให้ครบ 2 เข็มในเด็กอายุ 9 เดือน (เข็มที่ 1) และอายุ2 ปีครึ่ง-4 ปี (เข็มที่ 2)

ส่วนสถานการณ์โรคไอกรนที่เพิ่มขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พบผู้ป่วยยืนยันรวม 229 ราย จะเร่งรัดการฉีดวัคซีนไอกรนในเด็กอายุ 6 สัปดาห์-ต่ำกว่า 7 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน และในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อถ่ายทอดภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์ ให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนก่อนถึงระยะเวลาที่สามารถรับวัคซีนได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , , , ,