นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 36 เดือน ธ.ค.66 ภายใต้หัวข้อ “ของขวัญปีใหม่แบบไหนถูกใจภาคอุตสาหกรรม” จากการที่รัฐบาลทยอยออกมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นของขวัญขึ้นปีใหม่ 2567 ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567, การปรับลดอัตราค่าไฟฟ้า, โครงการ Easy e-Receipt, มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สหุงต้ม (LPG) , มาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV3.5) เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ประกาศออกมาแล้ว หรือยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งมีทั้งมาตรการที่ภาคเอกชนที่เห็นด้วย และบางมาตรการก็มีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ มีความคาดหวังให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 โดยมาตรการที่ได้รับความสนใจสูงสุดจากผู้บริหาร ส.อ.ท.ในแต่ละด้าน ดังนี้
1) มาตรการส่งเสริมเพื่อเพิ่มความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม เช่น สินเชื่อพิเศษเพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เงินอุดหนุนการติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟ และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ
2) การปลดล็อกกฎหมายให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าทุกขนาด โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 เพื่อลดภาระค่าไฟ
3) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงกระบวนการผลิต และจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด ESG
4) การเร่งตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานและฉุดรั้งทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้คะแนนพึงพอใจกับผลงานของรัฐบาลปี 2566 สูงสุดในเรื่องการกำกับดูแลราคาพลังงาน และการออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบด้านพลังงาน ทั้งการปรับลดค่าไฟฟ้า อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล และลดราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งมาตรการดังกล่าว มีส่วนสำคัญในการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการ รักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว
ทั้งนี้ เป็นการสำรวจจากผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 216 คน ครอบคลุมผู้บริหาร 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 36 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้
1. ภาครัฐควรดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)
อันดับ 1 (68.5%) มาตรการส่งเสริมเพื่อเพิ่มความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม เช่น สินเชื่อพิเศษเพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เงินอุดหนุนการติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อประหยัดค่าไฟ และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ
อันดับ 2 (60.6%) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองโดยการให้ส่วนลดค่าที่พัก และส่วนลดซื้อสินค้าในจังหวัด
อันดับ 3 (53.7%) มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้เอกชนซื้อสินค้าและบริการที่อยู่ในระบบ e-Tax
อันดับ 4 (51.9%) เพิ่มวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการซื้อสินค้าและบริการจาก SME และ Made in Thailand
2. ภาครัฐควรบริหารจัดการพลังงานอย่างไร เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)
อันดับ 1 (72.7%) ปลดล็อกกฎหมายให้สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าทุกขนาด โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 เพื่อลดภาระค่าไฟ
อันดับ 2 (65.3%) การตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาพลังงานทั้งระบบ
อันดับ 3 (62.0%) ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดที่ 1/2567 ให้ไม่เกิน 3.99 ต่อหน่วย
อันดับ 4 (49.5%) มาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าให้กับ SME โดยมีส่วนลดเป็นขั้นบันไดตามปริมาณการใช้ไฟฟ้า
3. ภาครัฐควรช่วยเหลือด้านการเงินอย่างไร เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)
อันดับ 1 (68.1%) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงกระบวนการผลิตและจัดการสิ่งแวดล้อม
อันดับ 2 (59.3%) เสนอให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้
อันดับ 3 (56.9%) สถาบันการเงินรัฐออกมาตรการส่งเสริมและจูงใจลูกหนี้ SME ที่มีประวัติชำระหนี้ดี เช่น ลดดอกเบี้ย ขยายวงเงินสินเชื่อ
อันดับ 4 (46.8%) ขยายฐานยกเว้นการเก็บภาษีนิติบุคคลจาก SME จากเดิมไม่เกิน 300,000 บาท เป็นไม่เกิน 1,000,000 บาท
4. ภาครัฐควรดำเนินการส่งเสริมปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจอย่างไร เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)
อันดับ 1 (69.9%) เร่งตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงานภาครัฐ
อันดับ 2 (64.8%) ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567 ลง 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้เท่ากับปี 2566 และทบทวนอัตราภาษีที่ดินฯ ทั้งหมดใหม่
อันดับ 3 (58.3%) เปิดศูนย์บริการ One stop service โดยนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ
อันดับ 4 (44.4%) ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ
5. ภาคอุตสาหกรรมถูกใจการดำเนินงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจในปี 2566 เรื่องใด (Multiple choices)
อันดับ 1 (66.2%) ช่วยเหลือดูแลราคาพลังงาน เช่น ปรับลดค่าไฟ อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล และลดราคาน้ำมันเบนซิน
อันดับ 2 (49.5%) การดำเนินการเชิงรุกในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ
อันดับ 3 (45.4%) ผลักดันการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์, รถไฟความเร็วสูง
อันดับ 4 (42.1%) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น Free Visa, ส่งเสริม Soft Power
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 66)
Tags: FTI CEO Poll, มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย