“ทุเรียน” แชมป์ผลไม้ส่งออกของไทย จับตาคู่แข่งใหม่ “เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลย์”

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ติดตามสถานการณ์การค้าและการส่งออกผลไม้สดของไทย พบว่า ผลไม้สดเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงต้องให้ความสำคัญทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ที่ผลไม้บางชนิดมีการพึ่งพาตลาดส่งออกในสัดส่วนสูง เช่น ทุเรียน ลำไย และมังคุด มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 80-90% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด

*ทุเรียน คว้าอันดับ 1 ผลไม้ที่ไทยส่งออกมากสุด

ไทยส่งออกผลไม้ในรูปแบบผลสดมากที่สุด โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 66 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกผลไม้สดเป็นปริมาณรวม 1,747,957 ตัน ขยายตัว 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลไม้ที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทุเรียน 965,284 ตัน 2. ลำไย 274,064 ตัน 3. มังคุด 245,049 ตัน 4. มะม่วง 104,154 ตัน และ 5. สับปะรด 36,618 ตัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในแง่มูลค่า พบว่า ไทยส่งออกผลไม้สด มูลค่ารวม 5,065.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (173,187 ล้านบาท) ขยายตัว 31.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลไม้ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. ทุเรียน 3,998.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (136,579 ล้านบาท) 2. มังคุด 494.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (16,902 ล้านบาท) 3. ลำไย 312.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,764 ล้านบาท) 4. มะม่วง 86.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,950 ล้านบาท) และ 5. ส้มโอ 31.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,095 ล้านบาท)

*ผลไม้ไทย ส่งออกตลาดจีน อันดับ 1

ตลาดส่งออกผลไม้หลักของไทยอันดับ 1 คือ ตลาดจีน มีมูลค่าส่งออกรวม 4,639.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (158,566 ล้านบาท) มีสัดส่วน 91.6% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทย รองลงมา คือ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ พบว่าไทยพึ่งพาการส่งออกผลไม้สดไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียน มังคุด ลำไย และส้มโอ โดยในปี 61 มูลค่าการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีน คิดเป็นสัดส่วน 37.2% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 88.3% ในปี 65 ขณะที่ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีสัดส่วนสูงถึง 91.6%

“ถึงแม้จีนจะเป็นในผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ของโลก และความต้องการนำเข้าผลไม้สดของจีน มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยยังต้องเผชิญความท้าทาย ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดจีน โดยเฉพาะกับเวียดนาม ที่พบว่าในปี 65 จีนมีอัตราการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดจากเวียดนามเติบโตกว่า 41%”

รมช.พาณิชย์ ระบุ

*ทุเรียนไทย มีคู่แข่งเพิ่ม!

ขณะที่การนำเข้าจากไทยหดตัว 4% ซึ่งผลไม้สำคัญ คือ ทุเรียน โดยในปี 65 จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 95% และนำเข้าจากเวียดนาม 5% จากเดิมที่ไทยเคยครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนทั้งหมด

และล่าสุดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 66 (ม.ค.-ต.ค.) จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 70% และนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มเป็น 30% จะเห็นได้ว่าหลังจากที่จีนเริ่มอนุญาตการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม ก็ทำให้โครงสร้างส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทุเรียนเวียดนาม มีข้อได้เปรียบด้านฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ยาวนานกว่า ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้ในช่วงนอกฤดูกาลผลิตของไทย อีกทั้งเวียดนามมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ที่มีพรมแดนติดกับจีน ทำให้การขนส่งใช้ระยะเวลาสั้น และมีต้นทุนต่ำกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น ทุเรียนของไทยในตลาดจีน ยังต้องรับมือกับคู่แข่งใหม่ เช่น ฟิลิปปินส์ ที่จีนเพิ่งอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนได้เป็นประเทศที่ 3 เมื่อเดือนม.ค. 66 และมาเลเซีย ที่ได้ยื่นขออนุมัติการส่งออกทุเรียนเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติการส่งออกทุเรียนเข้าจีนในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาเลเซีย-จีน ในปี 67 นี้

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) กล่าวถึงพฤติกรรมการบริโภคผลไม้ของชาวจีน พบว่า ปี 66 การบริโภคผลไม้สดของจีนมีการฟื้นตัวเล็กน้อย และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 67 โดยมีผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้การบริโภคผลไม้สดต่อหัวของชาวจีน ในปี 65 ลดลงเหลือ 54.7 กิโลกรัม/คน (ปี 64 ที่มีอัตราการบริโภคอยู่ที่ 55.5 กิโลกรัม/คน) ประกอบกับผู้บริโภคชาวจีน ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาเพิ่มขึ้น โดยยอดขายผลไม้สดขนาดกลางที่มีราคาย่อมเยากว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ชาวจีนส่วนใหญ่จะชื่นชอบผลไม้สดขนาดใหญ่มากกว่าก็ตาม

นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงบางราย เริ่มหันมาเลือกซื้อผลไม้สดที่มีคุณภาพสูงในประเทศมากขึ้น ทดแทนผลไม้ที่นำเข้า รวมทั้งมีความนิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเชื่อว่าผลไม้จะมีความสดและมีราคาถูกกว่า จึงทำให้ตลาดผลไม้สดนำเข้าในจีนได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับผลไม้ไทยบางชนิดมักประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด และราคาตกต่ำ เนื่องจากผลผลิตออกตามฤดูกาลในปริมาณมากและออกพร้อมกันหลายชนิด การส่งออกถือเป็นช่องทางหลักในการระบายผลไม้สดของไทย สำหรับตลาดในประเทศ ก็สามารถช่วยรองรับผลผลิตและบรรเทาปัญหาในช่วงที่ผลไม้ล้นตลาดได้ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายอย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้บริโภคชาวไทยที่รักสุขภาพและนิยมรับประทานผลไม้สดมากขึ้น

นายนภินทร กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ กระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทย ผ่านการจัดกิจกรรม อาทิ การจัดงานเทศกาลผลไม้ การส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต การส่งเสริมตลาดผลไม้พรีเมียม เช่น ผลไม้อินทรีย์ ผลไม้ GI เป็นต้น รวมทั้งการยกระดับและเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปรูปแบบใหม่ๆ อาทิ ผลไม้แปรรูปน้ำตาลต่ำ ผลไม้แปรรูปสอดไส้ธัญพืช เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

นายนภินทร กล่าวว่า ผลไม้เป็นสินค้าที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ผลไม้สดของไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นหลัก ดังนั้น ต้องเร่งเจาะตลาดส่งออกศักยภาพใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียว ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาส่วนแบ่งในตลาดส่งออกหลักอย่างจีนควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ ในวันที่ 28 ก.พ. 67 ซึ่งจะเชิญผู้นำเข้า ผู้ซื้อ และตัวแทนจำหน่ายที่มีศักยภาพจากต่างประเทศมาเยือนไทย ซึ่งจะทำให้รายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ เพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ และการบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อรักษาสมดุลราคาและรองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,