เฝ้าระวัง 17 พื้นที่ กทม. PM2.5 ส่อลากยาว 16-22 ธ.ค.

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 14.00 น. พบว่า จังหวัดสมุทรสาคร มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพระดับสีส้ม อยู่ที่ 47.1 ไมโครกรัม

ในขณะที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 16 เขต สูงสุด 3 ลำดับอยู่ที่ เขตบางกอกใหญ่ 55.8 ไมโครกรัม ตามด้วย เขตธนบุรี 49.9 ไมโครกรัม และเขตหนองแขม 49.5 ไมโครกรัม ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในวันที่ 16-22 ธ.ค. 66 กทม. เตือนค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวัง จำนวน 17 พื้นที่ คือ หลักสี่, จตุจักร, คลองเตย, พระโขนง, บางนา, พญาไท, ดินแดง, ห้วยขวาง, คลองสามวา, มีนบุรี, สะพานสูง, ตลิ่งชัน, บางกอกน้อย, ทวีวัฒนา, บางแค, หนองแขม และบางบอน

ตรวจเข้มควันดำ กทม.-ปริมณฑล

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการสะสมของฝุ่นละอองสูงขึ้น โดยแหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ การเผาในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ก่อสร้าง เตาเผาศพ และสถานประกอบการอื่นๆ ซึ่งกรุงเทพฯ และจังหวัดในพื้นที่ปริมณฑล ได้จัดทำแผนในการป้องกัน ตรวจสอบ พร้อมให้ความรู้ทำความเข้าใจ ทั้งกับผู้ประกอบการ และประชาชน

จากการรายงานแผนปฏิบัติการตรวจจับรถยนต์ควันดำ ริมเส้นทางจราจรของกรุงเทพฯ ในช่วงที่ฝุ่นละอองไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และกรมควบคุมมลพิษ จะตั้งจุดตรวจบริเวณถนนที่มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูง ดำเนินการทุกวัน 7 จุดต่อวัน วันละ 14 ชุด และตรวจอู่รถเมล์ 2 วัน/สัปดาห์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ ดูแลรักษาเครื่องยนต์

และเมื่อฝุ่นละออง 37.5 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ให้เพิ่มการตรวจใน 4 จุด ได้แก่ ท่าเรือคลองเตย และนิคมอุตสาหกรรม (บางชัน ลาดกระบัง และอัญธานี) โดยจะตรวจ 3 วัน/สัปดาห์ พร้อมเพิ่มชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังพื้นที่ที่มี PM2.5 สูง รวมทั้งห้ามจอดรถสายหลักและสายรอง ห้ามเผาในที่โล่ง งดจุดธูป/เทียน ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ หยุดการก่อสร้าง พร้อมงดค่าโดยสารบีทีเอส(BTS)ส่วนต่อขยาย

ในส่วนของการตรวจจับรถยนต์ควันดำริมเส้นทางจราจรในจังหวัดปริมณฑล จะดำเนินการตรวจเข้มบนถนนสายหลัก และเส้นทางขาเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการโดยกรมการขนส่งทางบก มี 16 ชุดต่อวัน ทั้งนี้ หากการตรวจสอบมีการระบายมลพิษมีค่าฝุ่นละอองที่กำหนดจะถูกปรับ และจะต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตามเจ้าของรถยนต์ที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้ และไม่ได้แก้ไขเรื่องควันดำ มาดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายแล้ว โดยโทษสูงสุดปรับไม่เกินห้าพันบาท

นอกจากนี้ ยังประสานกรมการขนส่งทางบก เพื่อจดแจ้งในระบบการต่อทะเบียน ซึ่งเจ้าของรถยนต์จะต้องปรับปรุงแก้ไขเครื่องยนต์มิให้มีการปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน และนำรถเข้าตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบกเสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินการทางทะเบียนได้ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่ง และเจ้าของยานพาหนะ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลเก่า หมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 และสุขภาพอนามัยของทุกคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,