นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 4/2023 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว เพียงแต่แรงขับเคลื่อนอาจยังกลับมาได้ไม่ครบ โดยจะเห็นว่าในปีนี้การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงส่งที่สำคัญจากการใช้จ่ายหมวดบริการ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด ตรงข้ามกับนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นและกลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิดแล้ว อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก
พร้อมกันนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 และ 68 มีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยในปี 67 การส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ และช่วยเป็นแรงเสริมภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปี 67 ธปท.ประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.3% และ 3.3% ในปี 68 อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยยังมีความเสี่ยงจากที่อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่คาด จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 34.5 ล้านคน ส่วนในปี 68 อยู่ที่ 39 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนอาจจะช้ากว่าที่คาดไว้ โดยมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติได้ในปี 68 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม non China
นางปราณี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในในภาพรวมอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนที่ต้องจับตา โดยปัจจัยด้านบวก ได้แก่ อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกแย่กว่าคาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และภาคการส่งออกไทย อาจได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าคาด จากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนไป
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยว่า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจนถึงช่วงต้นปี 67 จะยังอยู่ในระดับต่ำ จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน, ฐานที่สูงในปีก่อนหน้า รวมถึงปัจจัยด้านอุปทาน โดยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.นี้ จะยังติดลบต่อเนื่องจากเดือนพ.ย.
แต่อย่างไรก็ดี การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำดังกล่าว ไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเงินฝืด เนื่องจากอุปสงค์ยังเติบโตได้ดี เห็นได้จากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3/66 ที่ขยายตัวได้ 8% จำนวนการจ้างงานมีสูงถึง 40 ล้านคน ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเพียง 1% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ สะท้อนภาพเศรษฐกิจว่าไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด
พร้อมมองว่า อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น และกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 1/67 ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่จะกลับมาสูงขึ้น และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.ในช่วง 1-3% ได้ในปีหน้า โดยธปท.ประเมินว่าในปี 67 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 2.0% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 1.2% และในปี 68 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 1.9% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 1.3%
นายสุรัช กล่าวด้วยว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป ได้แก่ ปรากฎการณ์เอลนีโญที่รุนแรงกว่าคาด, ราคาพลังงานในตลาดโลกสูงกว่าที่คาด, เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐที่อาจมีเพิ่มเติมมากกว่าที่คาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 66)
Tags: ธปท., ปราณี สุทธศรี, สุรัช แทนบุญ, เศรษฐกิจไทย