BBIK วาง 4 แกนหลักโตไม่หยุดดันรายได้ปี 67 ทะยานต่อ 50% กำไรพุ่ง 20% แต่งตัวรอย้ายเข้า SET

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป (BBIK) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 67 จะเติบโต 50% จากปี 66 หลังจากรายได้ข่วงที่ผ่านมาของปีนี้เติบโตทะลุ 100% ไปแล้วปิดทั้งปีน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 120% แตะ 1.2 พันล้านบาทตามเป้าหมาย ขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตราว 20% โดยวางงบลงทุนปีหน้าราว 30% ของรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในเทคโนโลยี AI

พร้อมเตรียมตัวย้ายเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในปี 68 ตามแผนที่บริษัทตั้งไว้

แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวกระทบกับการดำเนินงานในแง่ของการลงทุนที่ยากขึ้น รวมถึงการจับจ่ายในภาคธุรกิจของลูกค้าน้อยลง แต่บริษัทได้เตรียมตัวออกไปเปิดธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ หากตลาดใดตลาดหนึ่งไม่ดีก็ยังสามารถจะเติบโตในตลาดอื่นได้ ขณะที่การเจรจาลงทุนกับบริษัทอื่น ๆ ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้ากว่า 90% เป็นลูกค้าในประเทศ

ขณะที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การพึ่งพาเทคโนโลยี ในชีวิตประจำวัน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการดำเนินงานเพิ่มความยืดหยุ่น มุ่งเน้นประสิทธิผล และลดความเสี่ยงในธุรกิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ภาพรวมของ Technology Landscape ยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านคาดการณ์ของ Gartner ที่ระบุว่าเม็ดเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีทั่วโลกจะแตะ 5.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 67 เพิ่มขึ้น 8% จากปี 66

“อิทธิพลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมกำลังขยายวงกว้างจากระดับธุรกิจไปสู่วิถีชีวิตของผู้คนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังกลายเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจยุค Digital-First World เช่น Generative AI ที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน เครื่องมือ (Tools) ใหม่ ๆ ที่เข้ามายกระดับประสบการณ์ใช้งานและรองรับการเชื่อมต่อ Digital Ecosystem ของ Super App นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามไซเบอร์ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและสร้างความเสียหายต่อธุรกิจและบุคคลทั่วไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้องค์กรยุคใหม่ที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ มีความยืดหยุ่นสูงเพื่อรองรับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” นายพชร กล่าว

บริษัทได้สรุป 7 Tech Capabilities สำคัญประจำปี 67 ที่จะช่วยยกเครื่องการทำธุรกิจโดยแบ่งออกเป็น 4 แกนหลัก เพื่อให้องค์กรสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงการวางรากฐานการเติบโตตามหลักความยั่งยืน ESG ที่จะเป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว ได้แก่

แกนที่ 1 Augmented Intelligence – เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแห่งอนาคต ภายใต้แนวคิดการผสานพลัง AI และมนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่กัน โดยขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนแนวคิดนี้ คือ Democratization of Generative AI (Gen AI) การเข้าถึงเทคโนโลยี Gen AI ในวงกว้างจะช่วยสร้างโอกาสในแง่มุมต่าง ๆ ให้ธุรกิจ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เร็วมากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การลดงานซ้ำซาก และยกระดับการเข้าถึงลูกค้าผ่านการหา Customer Insights ด้วย AI เพื่อสร้างคอนเทนต์สำหรับลูกค้าเฉพาะราย นอกจากนี้ Gen AI ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทำให้เกิดธุรกิจสตาร์ตอัปใหม่ๆที่อาจเข้ามาดิสรัปธุรกิจรูปแบบดั้งเดิม และองค์กรที่ไม่ได้ใช้ Gen AI จะถูกคู่แข่งที่ใช้งานทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ

แกนที่ 2 Digital Ecosystem – การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เชื่อมต่อหลายระบบและบริการเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้า สามารถใช้งานได้หลากหลายผ่านช่องทางเดียว ซึ่งการสร้าง Digital Ecosystem อาทิ Super App ให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคต ต้องให้ความสำคัญกับขีดความสามารถดังต่อไปนี้

Multiexperience (MX) เป็นการสร้างประสบการณ์การใช้บริการและซื้อสินค้าอย่างราบรื่นให้แก่ลูกค้า ครอบคลุมทุกจุดสัมผัสบนช่องทางดิจิทัล (Digital Touchpoints) และการใช้งานข้ามแพลตฟอร์ม เช่น Website, Super App, Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) และอุปกรณ์สวมใส่ (Wearables) เป็นต้น อีกทั้งการบรรลุวัตถุประสงค์การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจำเป็นต้องเข้าใจและรู้จักใช้ประโยชน์จาก MX เพื่อนำไปใช้ออกแบบประสบการณ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติ และสร้างสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าและพนักงาน

Event-Driven Nano Architecture (EDNA) เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยนาโนเซอร์วิส (Nanoservices) ที่แยกออกจากกัน ซึ่ง EDNA มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาบริการในแต่ละส่วนงานระดับนาโน รวมถึงปรับเพิ่มและลดขนาดการใช้ทรัพยากรได้อย่างอิสระกว่า Microservice ของ Event-Driven Architecture (EDA) และไม่กระทบบริการอื่นหากบางเซอร์วิสมีปัญหา อีกทั้งยังลดความซับซ้อนในขั้นตอนการทำงานและต้นทุน ด้วยเหตุนี้ EDNA จึงเป็นขีดความสามารถสำคัญในการสร้าง Digital Ecosystem ที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการทางธุรกิจได้ทุกแง่มุม

แกนที่ 3 Digital Immunity and Trust – เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร รับมือภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขีดความสามารถที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้แก่ Generative Cybersecurity AI เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้งาน Generative AI เช่น การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลรั่วไหล และช่องโหว่การโจมตี เป็นต้น โดยใช้ Autoregressive Generative Large Language Models (LLMs) สื่อสาร หาและเพิ่มพูนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้าง Security Use Cases นอกจากนี้ Generative Cybersecurity AI ยังสามารถประเมินความเสี่ยง ตรวจสอบ ติดตาม ระบุ ความผิดปกติบนระบบและรายงานผลให้ผู้ใช้งาน / ผู้ให้บริการทราบ ผ่านการโต้ตอบด้วยภาษามนุษย์ (Natural Language) เช่นเดียวกันกับใช้งาน Generative AI เพื่อหาคำตอบที่ต้องการ

AI-Enhance Security Operations เป็นเทคโนโลยี AI ที่เปรียบได้กับกระบวนการหลังบ้าน (Backend Process) ของระบบดำเนินการด้านความปลอดภัย ที่มาเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์เกี่ยวกับความปลอดภัยและแนวทางการตอบสนองต่อภัยคุกตามในรูปแบบต่าง ๆ โดย AI – Enhance Security Operations ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อวิเคราะห์ ค้นหา ไล่ล่าไวรัสมัลแวร์ และนำเสนอวิธีการรับมือกับเหตุการณ์นั้น ๆ ทำให้องค์กรสามารถป้องกันและจัดการกับปัญหาได้รวดเร็วแม่นยำมากขึ้น

ส่วนแกนที่ 4 Sustainability Technologies – เป็นการผสมผสานแนวคิดด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนซึ่งประกอบด้วย 1) เทคโนโลยีที่ออกแบบเพื่อแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อม และ 2) เทคโนโลยีที่สนับสนุนนโยบายด้าน ESG ซึ่งบลูบิคพบเทรนด์ที่น่าจับตามองในปีหน้า ดังนี้

AI for Sustainability เป็นการใช้ AI ช่วยปรับปรุงระบบการดำเนินงานและจัดการกระบวนการที่เป็นอุปสรรคต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอน ปัจจุบันนอกจากการใช้โมเดล AI ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีการใช้ AI เฝ้าสังเกต คาดการณ์ ลดการปล่อยคาร์บอนและปรับปรุงประสิทธิภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่น การพยากรณ์อากาศ การปรับปรุงระบบรีไซเคิลและจัดการของเสีย การจัดเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

ESG Management and Reporting เป็นกระบวนการบริหารจัดการและจัดทำรายงานด้าน ESG ที่จะเข้ามาช่วยองค์กรรับมือกับแรงกดดันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การจัดการภายในองค์กรจนถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ของหน่วยงานต่าง ๆ และคู่ค้า โดยอาศัยซอฟต์แวร์ที่สามารถรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถใหม่ ๆ อาทิ โมเดลและการวิเคราะห์ขั้นสูง (Modeling and Advanced Analytics) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงผลลัพธ์ด้าน ESG ให้แก่องค์กรอีกด้วย

“ผู้คน เทคโนโลยี และธุรกิจ กำลังเชื่อมโยงกันมากขึ้นทุกวัน และพร้อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกันหากเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่ง เห็นได้ชัดจากอิทธิพลของ Generative AI ค่านิยมใหม่ของผู้คน และความสมดุลระหว่างประโยชน์และผลลัพธ์เชิงลบอันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีของธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการทำดิจิทัลทรานส์ ฟอร์เมชันจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบลูบิคเชื่อมั่นว่าองค์กรธุรกิจที่รู้เท่าทันกระแสที่เกิดขึ้นและเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุค Digital-First World” นายพชร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,