ส.อ.ท.ห่วงทบทวนค่าแรง กระทบต้นทุนอุตสาหกรรม แนะยึดตามไตรภาคี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีหากจะมีการทบทวนอัตราค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคีใหม่ว่า เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน เพราะ ส.อ.ท. และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงเรื่องการใช้นโยบายไตรภาคีมาตลอด ซึ่งเป็นเรื่องดีมานด์ และซัพพลายอย่างชัดเจน

ส่วนกรณีจะปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทนั้น มองว่าเป็นการปรับขึ้นค่าแรงที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งเป็นต้นทุนใหญ่ของการผลิต เพราะใน 46 กลุ่มอุตสาหกรรม มีประมาณครึ่งหนึ่งที่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรืออุตสาหกรรมเก่า หากค่าแรงขึ้นจะทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ภาคบริการเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และร้านสปา เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคในประเทศ แต่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เพราะสินค้าในไทยราคาแพง ดังนั้นจะทำให้ยอดส่งออกลดลง ส่วนสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้น และจะโดนสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามาถล่ม

“ตอนนี้อยู่ในช่วงที่เป็น ‘เขาควาย’ ไม่รู้จะไปขวาหรือซ้าย โดนเสียบทั้งคู่ ดังนั้น คีย์เวิร์ด คือความสามารถในการแข่งขันประกอบไปด้วยต้นทุนทุกประเภท พอต้นทุนเยอะก็แข่งขันไม่ได้ และจะไปถึงการลดการจ้างงาน และนำ Automation มาแทนแรงงาน และแรงงานก็จะตกงาน แรงงานจาก 500 คน จะเหลือไม่ถึง 100 คนทันที ดังนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง มีความสมดุลที่เหมาะสม และมีความยืดหยุ่น เพราะไม่เช่นนั้นบางอุตสาหกรรม และภาคบริการบางส่วนอาจอยู่ไม่ได้ในปีหน้า” นายเกรียงไกร กล่าว

ส่วนจะมีการหารือเรื่องค่าแรงกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายเกรียงไกร มองว่า สิ่งที่ ส.อ.ท. และ กกร.นำเสนอไปนั้น ถือว่าครบถ้วนแล้ว หากไปเปลี่ยนแปลงก็จะขัดแย้งกับกฎกติการะดับสากล ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO และกฎหมายไทยมีการอ้างอิงกับส่วนนี้

“ถ้าจะแก้ ก็ต้องแก้หลายส่วน ต้องดูว่ารัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไร การทบทวน ต้องดูว่าทำได้หรือไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องกลับมารายงานว่าทำไม่ได้ ถ้าทำได้ ทำอย่างไร ต้องแก้อะไรบ้าง” นายเกรียงไกร ระบุ

เมื่อถามว่าถือเป็นการแทรกแซงของรัฐบาลหรือไม่ นายเกรียงไกร มองว่า แล้วแต่คนจะเรียก บางคนก็บอกว่าให้ไปพิจารณาใหม่ แล้วแต่ตีความในแต่ละมุม ทั้งนี้ มองว่าหากทำทุกอย่างถูกต้องตามแนวทางก็จะดีที่สุด

ส่วนประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทยนั้น เห็นด้วยกับรัฐบาลที่กำลังปรับโครงสร้างหนี้ยกเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะการนำหนี้นอกระบบนำเข้ามาอยู่ในระบบให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดี มองว่าหนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นตลอด แต่สิ่งที่จะสามารถแก้ไขได้ดีที่สุด คือการสร้างงานให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร พร้อมแนะนำว่า ต้องกระจายรายได้ไปยังเมืองรอง เกลี่ยให้ GDP โตขึ้นทั่วๆ กัน ก็จะทำให้หนี้ภาคครัวเรือนลดลง รวมทั้งต้องจับตาภาวะเอลนีโญที่จะกระทบกับสินค้าเกษตรด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , ,