หุ้นกลุ่มลีสซิ่ง-บัตรเครดิตติดลบห่วงมาตรการแก้หนี้กระทบรายได้ดอกเบี้ย-โบรกฯมองบวกกลุ่มแบงก์ NPL ลด

ดัชนีหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ไหลลง 1.66% เมื่อเวลา 15.48 น.จากแรงกดดันหุ้นกลุ่มเช่าซื้อและบัตรเครดิต ตอบรับความกังวลมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบของภาครัฐ ซึ่งเน้นแนวทางการลดดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ และยืดระยะเลาการผ่อนจ่าย เพื่อช่วยให้ลูกหนี้หลากหลายกลุ่มได้มีโอกาสหายใจได้คล่องขึ้น

ขณะที่ดัชนีกลุ่มแบงก์ +0.26%

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่านายกรัฐมนตรีแถลงมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ (-) FIN เป็นลบต่อกลุ่มไฟแนนซ์นอนแบงก์ที่เน้นธุรกิจเช่าซื้อ แต่เป็นบวก (+) BANK ต่อกลุ่มแบงก์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง แบ่งลูกหนี้เป็น 4 กลุ่ม 10.3 ล้านราย ได้แก่ 1. ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 SME 3 ล้านราย 2. ลูกหนี้มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก ได้แก่ ครู ตำรวจ ทหาร 3. ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ได้แก่ เกษตรกร นักเรียน (หนี้กยศ.) ลูกหนี้เช่าซื้อ และ 4. ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างหนี้ยาวนาน

มองว่ามาตรการที่จะกระทบกับผู้ประกอบการใน SET คือ กลุ่มลูกหนี้ SME ซึ่งจะใช้วิธียกเลิกสถานะ NPL พักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล และลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ จะใช้วิธีปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้

มาตรการดังกล่าวจะกระทบกับผู้ประกอบการในแง่ที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยปรับลดลง เนื่องจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอาจจะทำให้สินเชื่อลดต่ำลง แต่ก็จะทำให้ NPL ลดลงจากการได้ มองว่ากลุ่ม BANK จะได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากการยกเลิกสถานะ NPL ของลูกหนี้ SME จะทำให้ NPL ของกลุ่มลดลงมาก และทำให้ลดภาระการตั้งสำรองลง มากกว่าผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง

ขณะที่กลุ่ม FIN ซึ่งสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลจะได้รับผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงมากกว่า ในขณะที่กลุ่ม FIN อาจจะได้รับประโยชน์จากการลดลงของสินเชื่อ SME น้อย

ให้ KBANK (ราคาพื้นฐาน 166 บาท) เป็น Top pick ของกลุ่ม BANK ในขณะที่กลุ่ม FIN อาจจะหลีกเลี่ยงไปก่อน โดยอาจจะเข้าเก็งกำไรใน KTC (ราคาพื้นฐาน 54 บาท) ได้ เนื่องจาก KTC ไม่ได้เข้าร่วมกับคลีนิกแก้หนี้ และสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อน้อย ไม่น่าได้รับผลกระทบมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 66)

Tags: , , ,