“อภิสิทธิ์” ประกาศลาออกจากประชาธิปัตย์กลางวงประชุม “สาธิต” ไขก๊อกตาม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศถอนตัวเข้าร่วมชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนใหม่ พร้อมขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ในระหว่างการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 3/2566 ภายหลังจากที่นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคฯ ได้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ ได้ขอพักการประชุมชั่วคราว และขอหารือเป็นการส่วนตัวกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งภายหลังหารือกันประมาณ 10 นาที นายอภิสิทธิ์ ได้กลับเข้ามาในห้องประชุมฯ แล้วแจ้งว่า จากการหารือกับนายเฉลิมชัย มีความเข้าใจตรงกันทุกอย่าง และได้ขอถอนตัวจากการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ คนใหม่ รวมทั้งขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคด้วยเช่นกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวยืนยันกับที่ประชุมพรรคฯ ว่า แม้จะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ก็จะไม่ไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองอื่น และหากในวันข้างหน้า พรรคประชาธิปัตย์มองว่าตนยังมีประโยชน์ที่ให้ช่วยงานของพรรค ก็ยินดีและไม่ปฏิเสธ โดยจากนี้ขอให้ผู้ที่อยู่ในสถานะและมีอำนาจบริหารพรรคได้ทำงานอย่างเต็มที่ต่อไป โดยไม่ต้องหวาดระแวงใดๆ

“ขอถอนตัวในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และขอลาออกจากสมาชิกพรรค ยืนยันว่าจะไม่ไปพรรคอื่น หากกรีดเลือดออกมา ก็จะยังเป็นสีฟ้าจนวันตาย ถ้าวันข้างหน้า ในพรรคมองว่าผมยังพอจะมีประโยชน์สามารถช่วยงานได้ ผมก็จะช่วย โดยไม่ปฏิเสธ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว จากนั้นได้ออกจากที่ประชุมและเดินทางกลับในทันที

โดยในการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ 3 คน คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, น.ส.วทันยา บุญนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม., พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ของพรรคมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมการณ์อย่างมาก วันนี้เป็นการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคที่เหมือนจะรู้ผลมาก่อนล่วงหน้า ดังนั้นทิศทางของพรรคจนถึงวันนี้ เหมือนเป็นการละทิ้งอุดมการณ์ของพรรค เห็นได้จากการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุด ที่พรรคได้มีการลงมติสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แม้พรรคจะมีมติให้งดออกเสียงแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ยังมองว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับคำว่า “พรรคพวก” มากกว่า จุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคที่มีมายาวนาน

และสุดท้าย นายสาธิต ยังมองว่า พรรคยังไม่เปิดโอกาสหรือปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ให้โอกาสกับผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่กลับใช้ความเป็นพรรคพวก ตัดสินการนำพาพรรค อีกทั้งคนที่นำพรรคก็ไม่รักษาสัจจะวาจา ซึ่งถ้าได้คนที่มีคุณสมบัติแบบนี้มานำพาพรรค ก็จะถูกประชาชนลงโทษ ดังนั้นจึงขอตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และจะรอดูว่าคนที่บริหารพรรคในวันนี้จะนำพาพรรคไปสู่จุดใด ทั้งนี้ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปร่วมงานการเมืองกับพรรคใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 66)

Tags: , ,