นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.จะมีการประกาศงบการลงทุน 5 ปีฉบับใหม่ (ปี 67-71) ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธ.ค.นี้ แต่เบื้องต้นในปี 67 ได้วางงบลงทุนไว้ 36,000 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในปี 67 จะดีขึ้นจากปีนี้ เป็นไปตามปริมาณการขายที่จะปรับตัวดีขึ้นและต้นทุนการผลิตปรับลดลง โดยเฉพาะในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ประกอบธุรกิจใหม่จะทยอยรับรู้เข้ามาด้วย ประกอบด้วย โรงงานแบตเตอรี่ กำลังการผลิต 4,000 MWh คาดว่าจะ COD ได้ในเดือนธ.ค.66, โรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียม กำลังการผลิต 6,000 MWh คาดแล้วเสร็จในปี 67, โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปีหน้า
– ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ในปี 67 คาดว่าปริมาณการขายจะปรับเพิ่มขึ้น หลังจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือน เม.ย.67 และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ยังรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ด้านราคาขายคาดปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบ และสัมปทานใหม่ของ G1 เข้ามาเพิ่มขึ้น
– ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คาดว่าปริมาณขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามลำดับ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่แรงดันก๊าซในอ่าวผลิตได้เพิ่มขึ้นหลังจากผู้ได้สัมปทานรายใหม่เข้าดำเนินการ โดยกำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซคาดฟื้นตัวที่ 80-85% สอดคล้องกับปริมาณการผลิตในอ่าวที่เพิ่มมากขึ้น และแผนปิดซ่อมบำรุงที่ลดลง
ขณะที่ต้นทุน Pool Gas ก็คาดว่าจะลดลง จากการนำเข้า Spot LNG ลดลงหลังจากการผลิตก๊าซในอ่าวเพิ่มขึ้น และราคาในตลาดปรับตัวลงเทียบกับปีนี้ ส่งผลให้มาร์จิ้นธุรกิจก๊าซฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย
– ธุรกิจน้ำมัน คาดปริมาณการขายปรับตัวขึ้นตามการเติบโตของ GDP
– ธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่น (Refinery) ในส่วนของการกลั่นคาดปรับตัวลงเล็กน้อยรับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่คาดว่า utilization rate ของกลุ่ม ปตท.น่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางการใช้น้ำมันของประเทศ สายปิโตรเคมีเองก็คาดว่าราคาจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย แต่ดีมานด์น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
– ธุรกิจไฟฟ้า คาดฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางดีขึ้น รวมถึงมาร์จิ้นก็มีแนวโน้มดีขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามีทิศทางลดลง
– ธุรกิจ Future Energy ขยายตัวต่อเนื่อง จากการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Renewable ที่ดำเนินการผ่านทาง GPSC เป็นต้น
สำหรับโครงการของ ปตท. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 เฟส 2 มีกำหนดการเดินเครื่องเชิงพาณย์ (COD) ในปี 67, โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 ที่จะเข้ามาทดแทนโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1 มีกำลังการผลิตใกล้เคียงเดิมที่ 460 MMSCFD คาด COD ปี 67, โครงการ Uitra Clean Fuel คาด COD ไตรมาส 1/67, โครงการ Clean Fuel Project คาดทยอย COD ได้ตั้งแต่ปี 67-68
นายธนพล กล่าวว่า ปตท.ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 67 จะขยายตัว 2.9% ลดลงเล็กน้อยจากปีนี้ที่คาดขยายตัวได้ 3% ผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักคาดว่าจะใกล้สิ้นสุดลงแล้ว และน่าจะเห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า
ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวราว 3.2% เติบโตต่อเนื่องจากปี 66 ที่ขยายตัวราว 2.7% โดยได้แรงหนุนจากดีมานด์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ภาคการส่งออกจะกลับมาเป็นบวก และภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 อีกทั้งได้แรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
แต่ด้วยแรงกดดันด้านดีมานด์ที่อาจจะเพิ่มขึ้น จากนโยบายภาครัฐและต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น หากมีปรากฎการณ์เอลนีโญที่รุนแรงกว่าคาด อาจกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่สูงจะกดดันให้การใช้จ่ายภาคประชาชนเป็นไปอย่างจำกัด
สำหรับราคาพลังงานในปี 67 คาดว่าราคา LNG จะปรับลดลงจากปีนี้มาอยู่ในช่วง 2.5-2.9 เหรียญต่อล้านบีทียู (MMBTU) จากดีมานด์การใช้ก๊าซฯ ในสหรัฐลดลง จากภาวะเศรษฐกิจและความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่วนหนึ่งหันไปใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมมากขึ้น ขณะที่คาดว่าสหรัฐจะผลิตก๊าซฯ สำหรับนำมาใช้เป็น LNG เพื่อส่งออกมากขึ้น
ส่วน Spot LNG คาดปรับลดลง 11% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 11.5-13.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หลักๆ มาจากดีมานด์การใช้ก๊าซลดลง จากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมในยุโรปที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการ European Commission ซึ่งขยายระยะเวลามาตรการการใช้ก๊าซลงอีก 15% ไปสิ้นสุดในไตรมาส 1/67 อีกทั้งปริมาณสำรองในเอเชียและยุโรปยังอยู่ในระดับสูง และปริมาณการส่งก๊าซทางท่อของรัสเซียสู่จีนที่เพิ่มขึ้น คาดจะกดดันราคา LNG
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุน LNG จากปริมาณการส่งออก LNG ของอียิปต์คาดว่าจะลดลง หากสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและฮามาสยังคงรุนแรง และดีมานด์ของโลกที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของ GDP แม้จะชะลอลงเล็กน้อยจากปีนี้ก็ตาม
ราคาน้ำมันดิบดูไบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป คาดอ่อนลงเล็กน้อยจากปี 66 โดยราคาน้ำมันดิบดูไบคาดลดลงประมาณ 5% มาเคลื่อนไหวราว 76-81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดีมานด์ยังคงได้รับแนรงกดดันจากความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง รวมถึงซัพพลายของกลุ่มนอกโอเปกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ บราซิล อิหร่าน และเวเนซุเอลา
ประกอบกับการผ่อนคลายความกังวลจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มอ่อนตัวลง แต่ด้วยดีมานด์ของจีนที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีออกมา และซัพพลายที่ตึงตัวจากการลดกำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย ยังคงช่วยหยุงราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันเตา คาดปรับตัวลง 2% ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยคาดว่าตลาดน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ หลังซัพพลายจากรัสเซียเข้ามาในเอเชียมากขึ้น รวมถึงดีมานด์ที่มีมากขึ้นหลังจากเรือที่ติด scraper ออกมาในช่วงปี 67-68 เป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคา High Sulfur Fuel Oil (HSFO) ไม่ลดลงมากเกินไป
ค่าการกลั่น (GRM) สิงคโปร์ มีแนวโน้มอ่อนตัวลงราว 26% อยู่ระหว่าง 4.4-5.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จาก Gasoline และ Gas oil ที่ได้รับแรงกดดันจากดีมานด์จากความกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว และซัพพลายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการ Start UP ของโรงกลั่นใหม่ โดยเฉพาะไนจีเรีย
ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ยังเผชิญความท้าทายจากผลิตภัณฑ์ปลายทางที่ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และแรงกดดันจากซัพพลายใหม่ที่มีมากขึ้นของ HEPE และเบนซีนในจีน รวมถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว ความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ยังกดดันตลาดเอเชีย แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 67 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 66)
Tags: PTT, ธนพล ประภาพันธ์, ปตท., หุ้นไทย