SCB EIC แนะธุรกิจโรงไฟฟ้าปรับตัวเข้าสู่ตลาดการเงินสีเขียว เพิ่มโอกาสระดมทุนในต้นทุนที่ต่ำลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) โดยเฉพาะภาครัฐที่มีความตื่นตัวมากขึ้น ทำให้จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 55 กฎระเบียบในปี 2559 เพิ่มเป็น 256 กฎระเบียบในปี 2564 ส่วนหนึ่งมาจากความตกลงปารีสที่เริ่มมาตั้งแต่ในปี 2559 ซึ่งภาคธุรกิจและนักลงทุนต้องให้ความใส่ใจและปรับตัวไปกับประเด็น ESG โดยเฉพาะในภาคพลังงาน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั่วโลก

ขณะที่ภาคธุรกิจมีแรงกดดันมากขึ้นจากภาคการเงินที่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว เช่น การเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ยั่งยืนต่อสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันการเงินชั้นนำของโลก บางธนาคารเริ่มให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซที่ไม่มีแผน Transition ที่น่าเชื่อถือ ส่งผลให้การระดมเงินทุนของธุรกิจมุ่งเน้นไปที่โครงการที่ส่งเสริม ESG หรือโครงการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น

การระดมเงินทุนสำหรับกิจกรรมสีเขียวและความยั่งยืนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี สอดรับกับการปรับตัวของธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแส ESG กว่า 1 ใน 3 เป็นการระดมเงินทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค โดยธุรกิจพลังงานหมุนเวียนฯ มีการระดมทุนในตลาดการเงินสีเขียวช่วงปี 2562 ถึงเดือน ส.ค.66 สูงถึง 8.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงกว่าช่วงปี 2557-2561 ราว 176% โดยเป็นการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ที่มีสัดส่วนสูงถึง 51% ของการระดมเงินทุนทั้งหมด

ปัญหาฟอกเขียวเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย ESG รวมถึงอาจมีผลต่อการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว ในช่วงที่ผ่านมาตลาดการเงินสีเขียวเติบโตก้าวกระโดด ขณะเดียวกันปัญหาฟอกเขียวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน โดยภาคธุรกิจใหญ่สุดที่เกิดปัญหาฟอกเขียว คือ ภาคพลังงานและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะระดับโลก

การกำหนดมาตรฐานในการจัดประเภทกิจกรรมสีเขียว (Green taxonomy) ระบบการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์และรายได้ของธุรกิจ ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่สอดรับไปกับประเด็น ESG และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ และหลายฝ่ายสามารถใช้เป็นแนวทางโดยเฉพาะภาคการเงิน นอกจากนี้ธุรกิจก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้บรรลุเป้าหมาย ESG ในแนวทางเดียวกันได้ และลดความเสี่ยงการถูกฟ้องร้องในกรณีเกิดปัญหาฟอกเขียว

สำหรับไทยมีการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือน มิ.ย.66 ซึ่งนำมาใช้กับกิจกรรมภาคพลังงานและภาคขนส่งก่อน

แนวทางของการปรับตัวของธุรกิจโรงไฟฟ้า หากต้องการดำเนินธุรกิจที่สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจพลังงานฝั่งอุปทานในการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และความเย็น รวมถึงการส่ง-จ่ายไฟฟ้า ทั้งนี้จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy จะพบว่าไม่เพียงแต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นที่สามารถเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลยังมีโอกาสในการปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ธุรกิจสีเขียว

โดยธุรกิจต้องเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมมากขึ้น, ปรับปรุงกระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของวัตถุดิบของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและชีวภาพ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้ตามมาตรฐานของ Thailand Taxonomy รวมถึงที่มาของวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานชีวภาพ, มุ่งพัฒนา Green hydrogen เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีโอกาสที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกลายเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ หากหันมาใช้ Green hydrogen และตั้งเป้าปล่อย GHG ไม่เกิน 100 gCO2e/kWh ภายในปี 2583 และหลังปี 2583 ตั้งเป้าปล่อยไม่เกิน 50 gCO2e/kWh, หลีกเลี่ยงการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหลังวันที่ 31 ธ.ค.66 และกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินถือว่าเป็นกิจกรรมสีแดง

“Green taxonomy ถือว่าเป็นแนวทางที่ธุรกิจให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการปล่อย GHG สูงและมีโอกาสปรับลด GHG ได้ยาก เช่น ธุรกิจพลังงานและธุรกิจโรงไฟฟ้าในยุโรปมีแนวโน้มที่จะปรับงบลงทุนให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ EU Taxonomy มากกว่าธุรกิจอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวไปสู่กิจกรรมสีเขียว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการระดมเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากตลาดการเงินสีเขียว ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ” SCB EIC ระบุ

การระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตราสารหนี้สีเขียวจะมีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป หรือเรียกว่ามี Greenuim ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มของ Greenium น่าจะยังคงมีอยู่ เนื่องด้วยความต้องการในตราสารหนี้สีเขียวที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ สินเชื่อสีเขียวมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินเชื่อปกติ จากการผลักดันทั้งภาครัฐ ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำต่างๆ และองค์กรนานาชาติ ท่ามกลางการให้ความสำคัญต่อการให้สินเชื่อสีเขียวและยั่งยืนมากขึ้นของธนาคารเอกชนหลายแห่งทั่วโลก ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อ Sustainability-Linked Loan (SLL) ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่หนุนให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ถ้าธุรกิจสามารถปรับการดำเนินงานทางธุรกิจให้ได้ตามเงื่อนไขด้าน ESG อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลง เพื่อสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจดำเนินการด้าน ESG ได้ตามเป้าหมาย

“SCB EIC เชื่อว่า Thailand Taxonomy จะเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ช่วยสนับสนุนให้การเติบโตของสินเชื่อสีเขียวทำได้ดีขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะเห็นความชัดเจนในกิจกรรมสีเขียวมากขึ้น ท่ามกลางการปรับตัวของธุรกิจในด้าน ESG ที่สอดรับกัน เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินในโครงการ ESG ผ่านสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น” SCB EIC ระบุ

แม้ Green taxonomy จะเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อสีเขียว แต่มีความท้าทายบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ 1.การประยุกต์ใช้ Green taxonomy กับกิจกรรมเศรษฐกิจยังจำกัดอยู่ในบางกิจกรรมและยังไม่กว้างขวางเพียงพอ 2.การสร้างกลไก Green(bank)-to-Green(company) เพื่อผลักดันสินเชื่อสีเขียวให้เติบโตได้ดี โดยเฉพาะการผลักดันให้สถาบันการเงินพยายามปรับตัวตาม Net zero pathway และอาจนำมาสู่การเติบโตของผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวใหม่ๆ และ 3.กำหนด Green capital requirement เพื่อให้สถาบันการเงินรับมือกับความเสี่ยง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 66)

Tags: ,