CEO Survey เก็งเศรษฐกิจไทยปี 67 โตได้ 3-4% มองกำลังซื้อในประเทศยังเสี่ยง-กังวลต้นทุนพุ่ง

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (CEO Survey: Economic Outlook 2023 – 2024) ซึ่งรวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม-30 กันยายน 2566 สรุปว่า CEO ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นแต่ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน และคาดกว่า GDP จะเติบโตที่ระดับ 2% ถึง 3% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 3% ถึง 4%

การท่องเที่ยว นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ จะเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 และต่อเนื่องในปี 2567 ขณะที่เสถียรภาพการเมืองในประเทศ กำลังซื้อในประเทศ และการส่งออกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2566 โดยคาดว่ากำลังซื้อในประเทศจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 2567

ทิศทางอุตสาหกรรมและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นั้น 58% ของ CEO คาดว่าผลประกอบการในปี 2566 จะดีขึ้น โดย 52% ของ CEO คาดการณ์ว่าผลประกอบการปี 2566 จะเติบโตมากกว่า 10% โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกลับมาใช้ชีวิตรูปแบบปกติ อาทิ ธุรกิจในหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดวัสดุก่อสร้าง

ทั้งนี้ ในปี 2567 CEO ส่วนใหญ่กว่า 47% เชื่อว่ากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะดีขึ้นบ้าง ขณะที่ 23% มองว่าจะเหมือนเดิม 11% มองว่าจะแย่ลงบ้าง และ 8% เห็นว่าน่าจะแย่ลงมาก ส่วน 17% เชื่อว่าจะดีขึ้นมาก (อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจอาจดีกว่าข้อเท็จจริง เนื่องจากช่วงเวลาในการสำรวจแบบสอบถาม CEO ส่วนใหญ่ตอบกลับมาก่อนที่จะเกิดภาวะสงครามระหว่างประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามาสและก่อนเหตุการณ์ประเทศอิสราเอลเคลื่อนกำลังทางบกเข้าเขตกาซา และสำรวจก่อนการเกิดเหตุการณ์ก่อเหตุยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน)

ด้านการลงทุนในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 โดย 56% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี 2566 และ 73% คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี 2567 และพบว่าบริษัทจดทะเบียนในหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ เป็นต้น คาดว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น

แนวโน้มในการลงทุนในต่างประเทศในปี 2566 มีแนวโน้มดีขึ้น สังเกตได้จากจำนวนบริษัทที่ตอบว่ามีการลงทุนเพิ่มเติมมีสัดส่วนอยู่ที่ 42% กระจายในหมวดธุรกิจต่างๆ อาทิ บริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค เป็นต้น โดยประเทศเป้าหมายในการลงทุน ได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ จีน ซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ชะลอการลงทุนในจีน และสิงคโปร์

เมื่อสอบถามถึงความวิตกกังวลในการประกอบธุรกิจ พบว่า ในปี 2566 CEO มีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ ทั้ง ต้นทุนราคาเชื้อเพลิง และ ต้นทุนวัตถุดิบ และในด้านกำลังซื้อภายในประเทศ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทที่ผันผวนของลูกค้า ขณะที่ “การเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “การให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จะเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกมากต่อบริษัท นอกจากนี้ CEO ยังแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการฟื้นตัวของกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การแทรกแซงตลาดของภาครัฐที่บิดเบือนกลไกตลาด และปัญหาจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน คาดว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา เสถียรภาพการเมืองโลก เสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาท และนโยบายการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลใหม่จะส่งผลบวก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , ,