คณะนักวิจัยค้นพบหลุมฝังศพ 40 หลุม สิ่งปลูกสร้างยกพื้นสูงบางส่วนและบ่อน้ำที่มีอายุย้อนกลับราว 4,500-5,500 ปีก่อนในนครฉางโจวมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีนเมื่อไม่นานมานี้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ซากโบราณดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยวัตถุโบราณหลายรายการ อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องหยก และเครื่องหิน ถูกพบที่ซากปรักหักพังซื่อตุน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทียนหนิงของเมืองฉางโจวในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์หนานจิงเผยว่า ซากปรักหักพังซื่อตุนมีศูนย์กลางอยู่บนเนินรูปทรงวงรี ล้อมรอบด้วยฐานแบนราบขนาดเล็กกว่า 10 แห่ง พร้อมคูน้ำรอบเมืองแบบระบบน้ำคู่และมีพื้นที่ทั้งหมดราว 1.5 ล้านตารางเมตร โดยพิพิธภัณฑ์ฯและกลุ่มนักวิจัยได้ดำเนินงานขุดค้นสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2562
กลุ่มนักวิจัยเชื่อว่าซากปรักพักพังซื่อตุนเป็นเครื่องสะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากวัฒนธรรมซงเจ๋อตอนปลายสู่วัฒนธรรมเหลียงจู่ และมอบมุมมองใหม่สำหรับการศึกษารูปแบบการพัฒนาของอารยธรรมระดับภูมิภาค บริเวณพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำแยงซีในสมัยโบราณ
นายอวี๋ เฉิงหลง ผู้ร่วมวิจัยของพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่า ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีจัดอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันตั้งแต่เมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน พร้อมระบุเสริมว่า ซากปรักหักพังซื่อตุนสะท้อนถึงการก่อตัวและการพัฒนาที่ซับซ้อนของสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ทะเลสาบไท่หู และช่วยเผยให้เห็นกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นไปสู่รูปแบบของรัฐในยุคแรกเริ่ม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)