IMD เลื่อนอันดับขีดความสามารถแข่งขันด้านดิจิทัลไทยปี 66 ขึ้นมาที่อันดับ 35

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566 โดยปีนี้ ประเทศไทย อันดับดีขึ้น 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ จากการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับทั้ง 3 ด้าน

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการจัดอันดับ 3 ด้านนั้น ด้านเทคโนโลยี (Technology) เป็นปัจจัยที่มีอันดับดีที่สุด โดยอยู่ในอันดับที่ 15 ดีขึ้นกว่าปี 2565 ถึง 5 อันดับ ในขณะที่ด้านความรู้ (Knowledge) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) มีอันดับดีขึ้น 4 และ 7 อันดับ ตามลำดับ แต่ยังคงอยู่ในอันดับที่ไม่สูงนัก คือ อันดับที่ 41 และ 42 ตามลำดับ

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA กล่าวว่า เป็นแนวโน้มที่น่ายินดีที่ไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับในปีนี้ โดยดีขึ้นในทุกปัจจัย ถึงแม้ว่าใน 2 ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยเฉพาะในยุคที่ AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คือด้านความรู้ (Knowledge) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) จะยังอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนัก

อย่างไรก็ตาม นับว่ายังมีแนวโน้มในทางบวก เช่น ในเรื่องของการสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพ (Talent) ที่นอกเหนือจากความพยายาม ทั้งในภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ยังมีการปรับปรุงกฎระเบียบที่ช่วยดึงดูด Talent จากภายนอกประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทยง่ายขึ้น รวมถึงบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ ที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาประเทศให้เป็นเศรษฐกิจฐานดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งภาคธุรกิจได้สะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็นอีกด้วย

นายธีรนันท์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญในขณะนี้ คือ การก้าวให้ทันเทคโนโลยีด้าน AI ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยกระดับความสามารถในด้าน Cyber Security และ Privacy Protection เป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดอันดับในด้าน Government cyber security capacity ที่อยู่ในอันดับที่ 58 และ Privacy protection by law content ที่อยู่ในอันดับที่ 43

เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 มีประเทศในทวีปยุโรปถึง 5 ประเทศ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกา กลับขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ในปีนี้ จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมสำหรับอนาคต ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ อันดับ 2 ปรับตัวดีขึ้นถึง 4 อันดับจากปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่น ที่ได้รับการจัดอันดับใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 เดนมาร์ก อันดับ 5 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 6 เกาหลีใต้ อันดับ 7 สวีเดน อันดับ 8 ฟินแลนด์ อันดับ 9 ไต้หวัน ซึ่งเข้ามาอยู่ใน 10 อันดับเป็นครั้งแรก และอันดับ 10 ฮ่องกง โดยในปีนี้ มี 4 ประเทศในทวีปเอเชียที่มีขีดความสามารถสูง ติดใน 10 อันดับแรกของการจัดอันดับในปีนี้

ในระดับอาเซียนที่ IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจ พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 3 และมาเลเซียอยู่อันดับที่ 33 โดยมีปัจจัยที่เป็นจุดเด่น ได้แก่ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ส่วนอินโดนีเซีย มีอันดับดีขึ้นถึง 6 อันดับมาอยู่ที่ 45 และฟิลิปปินส์ มีอันดับลดลง 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 59

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,