ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าขณะนี้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของไทยส่วนใหญ่ เป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีปริมาณไวรัสในลำคอสูงมาก ทำให้แพร่กระจายง่าย มีโอกาสติดจากคนสู่คนง่ายขึ้น และทำให้การค้นหาไทม์ไลน์ยากขึ้นด้วย ดังนั้นทุกคนต้องปฏิบัติการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัย 100% เว้นระยะห่าง สุขอนามัยต้องเต็ม 100%
ส่วนประเด็นการให้วัคซีนโควิด-19 สลับชนิดนั้น นพ.ยง กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ แต่ระยะเวลาของการฉีดวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 10-12 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานเกินไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไทยที่สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในขณะนี้นั้น ทำให้ไม่สามารถรอเวลาถึง 12 สัปดาห์ได้ ดังนั้น จึงทำการศึกษาการใช้วัคซีนแบบสลับชนิด คือการใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือซิโนแวคเข็มแรก เพื่อให้ร่างกายได้รับเชื้อ ก่อน ถัดจากนั้นประมาณ 3-4 สัปดาห์จะใช้วัคซีนชนิด Viral Vector หรือแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่สอง โดยยืนยันว่ามีความปลอดภัย
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีประชาชนในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมกว่า 1,200 คน ฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด โดยจากผลบันทึกอาการข้างเคียงพบว่ายังไม่มีรายใดที่มีอาการรุนแรง ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มากพอสมควร ทั้งนี้จะมีการศึกษาข้อมูลเรื่องความปลอดภัยอีกครั้ง โดยคาดว่าผลการศึกษาจะออกมาภายในสิ้นเดือนนี้
“การจะยุติวิกฤต นอกจากวินัยเคร่งครัดแล้ว วัคซีนจะเป็นทางช่วยอีกตัวที่จะช่วยหยุดวิกฤติ”
นอกจากนี้ ในต่างประเทศเองได้มีการศึกษาการใช้รูปแบบการฉีดวัคซีนแบบสลับมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่นในประเทศอังกฤษได้มีการใช้วัคซีนชนิด Viral Vector หรือแอสตร้าเซนเนก้าในเข็มแรก และใช้วัคซีนชนิด mRNA หรือวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง ซึ่งจากผลการศึกษาก็ไม่พบปัญหาใดๆ และมีการใช้อย่างแพร่หลาย
นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดจะเริ่มฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยงก่อน และเมื่อมีจำนวนวัคซีนเพียงพอจะเริ่มฉีดให้ประชาชนทั่วไปในภายหลัง ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กต้องรอผลการศึกษาก่อน เนื่องจากการฉีดวัคซีนในเด็กต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าผู้ใหญ่
ส่วนกรณีมีการพบผู้ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนๆ เดียวกันนั้น นพ.ยง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรียกว่า co-infection แต่การกลายพันธุ์จากการจากการแลกชิ้นส่วน (recombination) กันนั้นยังไม่พบข้อมูล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, mRNA, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์เดลตา