ผู้ว่าการธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย, อังกฤษ และไทย ต่างก็ออกมาเตือนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของแนวโน้มนโยบายการเงิน แม้มีกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นทั่วโลกว่าอัตราดอกเบี้ยได้มาถึงจุดพีกหรือใกล้จะถึงจุดพีกแล้วก็ตาม
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ได้เข้าร่วมประชุมนโยบายการเงินซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงโดยธนาคารกลางฮ่องกง และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)
ในการประชุมดังกล่าว นางมิเชล บูลล็อก ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) แสดงความเห็นว่า “นโยบายการเงินในขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และตัวเลขเงินเฟ้อในภาคบริการส่งสัญญาณปรับตัวสูงขึ้นเป็นเวลานาน”
ขณะที่นายเดฟ แรมส์เดน รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า พวกเขามีความเชื่อมั่นมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงิน แม้มีความไม่แน่นอนในหลายด้านก็ตาม พร้อมกับกล่าวว่า ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดอัตราดอกเบี้ยก็มีความผันผวนและอ่อนไหวต่อข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมา
ทางด้านนายพาโบล เฮอร์นันเดซ เดอ คอส ผู้ว่าการธนาคารกลางสเปนกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรของภาคธนาคาร แต่ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น พร้อมกับเตือนว่าความเสี่ยงด้านสินเชื่ออาจจะปรับตัวสูงขึ้น และอาจจะเกิดภาวะขาดทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ
“เรากำลังส่งสารให้ทุกฝ่ายรับรู้ว่า ภาคธนาคารควรจะดำเนินนโยบายด้วยความรอบคอบระมัดระวัง” นายเฮอร์นันเดซกล่าว พร้อมระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ควรใช้ความสามารถในการทำกำไรที่ระดับสูง เป็นเครื่องมือในการเพิ่มความแข็งแกร่งในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ
ส่วนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง โดยขณะนี้มีสัดส่วนสูงถึง 90% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่สร้างความซับซ้อนให้กับนโยบายการเงินนั้น รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ชะลอตัวลง และการท่องเที่ยวจากจีนที่ไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด
นายเศรษฐพุฒิยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในการประชุมดังกล่าว นายเศรษฐพุฒิยังกล่าวด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ปรับตัวตามประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วซึ่งรวมถึงสหรัฐนั้น กำลังส่งผลให้ค่าเงินเกิดความผันผวน และสร้างความท้าทายต่ออัตราแลกเปลี่ยนและกระแสเงินทุนหมุนเวียน
ด้านนายพอล ชาน รัฐมนตรีคลังฮ่องกงได้กล่าวสุนทรพจน์ในระหว่างการเปิดประชุมครั้งนี้ โดยเตือนว่า แนวโน้มที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และกระแสการลดความเสี่ยง (De-risking) นั้น จะเป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งจะจำกัดการเข้าถึงตลาด และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 66)
Tags: ธนาคารกลาง, นโยบายการเงิน